พาณิชย์แจงราคาหมูเป็น ซื้อขายจริงไม่เกินโลละ 80 บาท



  • ราคาหมูเนื้อแดงไม่เกินโลละ 150 บาท เท่าปีก่อน
  • ส่วนน้ำมันปาล์มขวดไม่ถึง 60 บาท แค่ 50-53 บาท
  • แต่ขอแรงผู้ผลิตตรึงราคาแล้ว แนะผู้บริโภคซื้อน้ำมันอื่นก่อน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศปรับราคาจำหน่ายหมูมีชีวิตเป็นกิโลกรัม (กก.) 84 บาทเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ราคาซื้อขายและส่งมอบยังไม่เกินกก.ละ 80 บาท ตามที่กรมขอความร่วมมือไว้ ส่วนหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่ง ราคาขายปลีก ล่าสุด วันที่ 8 พ.ย. อยู่ที่กก.ละ 135 – 140 บาท และราคาหมูเนื้อแดงตัดแต่ง กก.ละ 145 – 150 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับปีก่อน ขณะที่ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงชำแหละในห้างค้าปลีกค้าส่ง อยู่ที่กก.ละ 119 – 122 บาท

“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคา และปริมาณหมูอย่างใกล้ชิด  หากพบว่า ตลาดใดมีปริมาณเข้าสู่ตลาดไม่เพียงพอหรือราคาสูงกว่าปกติ จะประสานสมาคมผู้เลี้ยงสุกร นำเนื้อหมูชำแหละเข้าไปเสริมในตลาด หรือจัดจำหน่ายหมูธงฟ้าแม้ในด้านปริมาณผลผลิตในประเทศ  กรมปศุสัตว์แจ้งว่า ปีนี้อยู่ที่ 15.86 ล้านตัว ลดลง 30% จากปี 63 แต่ยังไม่ขาดแคลน เพราะจีน ผู้นำเข้ารายใหญ่ในช่วงก่อนหน้า เพราะมีอหิวาต์แอฟริการะบาดนั้น ขณะนี้นำเข้าจากไทยลดลงหลังการระบาดดีขึ้น และความต้องการบริโภคของคนไทยลดลงเหลือปีละ 16 กก.ต่อคน จากเดิมปีละ 22 กก.ต่อคนหรือลดลง 38% จึงทำให้มีปริมาณหมูเพียงพอ”

ส่วนกรณีราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อการบริโภค ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ขวดละ 60 บาทนั้น จากการสำรวจราคาในห้างค้าปลีกค้าส่ง พบว่า อยู่ที่ขวดละ 50-53 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงก่อนหน้าที่ขวดละ 46 บาท แต่กรมได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสกัดให้ตรึงราคาขายน้ำมันปาล์มขวดไปก่อน แม้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ วัตถุดิบสำคัญในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.64 จะสูงขึ้นมาอยู่ที่กก.ละ 37.24 บาท หรือเพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กก.ละ28.10 บาท

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นมากในขณะนี้ มาจากผลผลิตปาล์มของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศผู้ผลิตสำคัญ ลดลงไม่น้อยกว่า 5% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานและการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม จนทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดโลกลดลง ผลักดันราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไทยได้รับผลดีจากการออกน้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น และราคาผลปาล์มในประเทศสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเฉลี่ยเดือนม.ค.-พ.ย.64 อยู่ที่กก.ละ 6.76 บาท แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับขึ้นไปถึงกก.ละ 10 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปี จากราคาเฉลี่ยปี 63 ที่กก.ละ 4.78 บาท หรือเพิ่มขึ้น 41%

“การที่ราคาผลปาล์ม และน้ำมันปาล์มในประเทศสูงขึ้น ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ช่วยยกระดับรายได้ และนำเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สำหรับผู้บริโภค กรมได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดตรึงราคาไว้แล้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพได้บ้าง อีกทั้งยังสามารถบริโภคน้ำมันชนิดอื่นทดแทนได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ที่ขณะนี้ผลผลิตถั่วเหลืองตลาดโลกในฤดูกาลใหม่เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว และคาดว่า จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า5% ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันถั่วเหลืองเข้ามาทดแทนในระบบมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เนื้อหมู และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ค้ามีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม โทร. 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ และหากพบผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ด้านนายเสน่ห์ นัยเนตร เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ ต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นมาก จากราควัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้อยู่ที่กก.ละ 11 บาท และจะขึ้นไปถึงกก.ละ 12 บาทแน่แต่ที่แปลกใจ คือราคาปลายข้าวที่แพงมากถึงกก.ละ 10 กว่าบาท ทั้งๆ ที่ข้าวเปลือกราคาถูกมาก ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย 80% ผสมอาหารสัตว์กันเอง การที่พืชอาหารสัตว์ทุกชนิดมีราคาแพงขึ้นเช่นนี้ ก็เดือดร้อนกันหมด

“การเลี้ยงหมูหนึ่งตัว มีต้นทุนค่าอาหารถึง 65%  นอกจากนี้ ฟาร์มหมูหลายแห่ง ยังมีปัญหาโรคระบาด จำเป็นต้องลงทุนสูงมากเพื่อป้องกันโรค แต่ราคาขายก็ไม่ได้ดี เพราะถ้ามีฟาร์มใกล้ๆ เกิดโรค ก็ต้องรีบขายหมูทิ้งในราคาไม่คุ้มทุน ล่าสุด ผู้เลี้ยงรายย่อยเลิกเลี้ยงไปมากแล้ว ไม่แน่ใจเหลือถึง 20,000 รายหรือไม่ จากที่มีแสนกว่าราย ซ้ำร้ายในบางพื้นที่ยังเจอน้ำท่วมฟาร์มอีก จึงอยากขอให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ และต้องขอให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วยว่า เนื้อหมูอาจขยับราคาสูงขึ้นบ้าง เป็นเพราะปริมาณหมูในท้องตลาดมีน้อยลง”