

- เอกชนมะกันและ 26 ประเทศล็อบบี้มะกันเร่งต่อายุโดยด่วน
- หลังโครงการเดิมสิ้นสุดสิ้นปี 63 ลั่นต่ออายุช้าเป็นเรื่องปกติ
- แต่ไม่กระทบส่งออกไทยเหตุผู้นำเข้าขอคืนภาษีได้ภายหลัง
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการต่ออายุโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) โครงการใหม่ ที่สหรัฐฯ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย ว่า โครงการเดิมหมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.63 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการดำเนินการของสหรัฐฯ ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะต่ออายุเมื่อใด เพราะการต่ออายุที่ผ่านมา ใช้เวลาพิจารณานานหลายเดือน โครงการที่เพิ่งหมดอายุไป ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมถึง 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ถ้าต่ออายุล่าช้า หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 ยังไม่ประกาศต่ออายุ จะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯแน่นอน เพราะผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ยังนำเข้าได้ปกติ เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีไปก่อน และเมื่อโครงการได้รับการต่ออายแล้ว สามารถขอคืนภาษีจากศุลกากรของสหรัฐฯได้
“ตอนนี้สหรัฐฯ มีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการหลายเรื่อง ทั้งการมีรัฐบาลใหม่ หลังจากที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จ และการต่อสู้กับโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ ทำให้สหรัฐฯ ต้องดูความจำเป็นเรื่องที่จะทำก่อนและหลัง โดยโครงการจีเอสพีใหม่ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ปกติสหรัฐฯ ต่ออายุช้าอยู่แล้ว บางครั้งนาน 6 เดือนและเกือบ 1 ปีก็มี แต่สุดท้ายแล้วก็ต่อ อยู่ที่ว่าจะต่อเมื่อใด”
ทั้งนี้ มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะต่ออายุโครงการใหม่แน่นอน เพราะภาคเอกชนของสหรัฐฯจำนวนมาก สนับสนุนการต่ออายุ ที่เห็นชัดเจนคือ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63 ภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งผู้นำเข้า และสมาคมการค้าต่างๆ กว่า 222 ราย ทำหนังสือถึงกรรมาธิการการเงิน ของรัฐสภา สหรัฐฯ ให้พิจารณาต่ออายุโครงการใหม่ และยังได้ทำหนังสือย้ำไปอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 ก.ค. และวันที่ 1 ธ.ค.63 รวม 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ประหยัดต้นทุน จากการที่สหรัฐฯไม่เก็บภาษีนำเข้า หรือเก็บภาษีในอัตราต่ำ และผู้บริโภคสหรัฐฯ ซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง
นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลักดันให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนก.ย.63 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ร่วมกับ 26 ประเทศที่ได้จีเอสพีทำหนังสือถึงวุฒิสภา สหรัฐฯ ขอให้เร่งพิจารณาการต่ออายุโครงการแล้ว
สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพีเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยได้รับสิทธิ์ ทั้งสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือเอกราช (ซีไอเอส) และนอร์เวย์ ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.63 นั้น มีมูลค่าการใช้สิทธิ์รวม 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุด 2,905.83 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.63% สินค้าใช้สิทธิ์ เช่น ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ใช้สิทธิ์รองลงมา 238.96 ล้านเหรียญฯ ลดลง 0.19%, รัสเซียและซีไอเอส 102.22 ล้านเหรียญฯ ลดลง2.30% และนอร์เวย์ 24.42 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 33.96%
