พาณิชย์ปลุกเอกชนฮึดสู้ดันส่งออกปีนี้โต 1-2%

.อัดเพิ่มอีก 350 กิจกรรมเจาะตลาด 7 ภูมิภาค
.คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
.เอกชนสุดห่วงต้นทุนพุ่งฉุดรั้งขยายตัวตามเป้า

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์จากทั่วโลก พาณิชย์จังหวัด และภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกในช่วงครึ่หลังปี 66 ว่า ได้ร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออก เพื่อผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ที่ตั้งไว้ขยายตัว 1-2% จากปี 65 บรรลุผล โดยจะเพิ่มกิจกรรมอีก 350 กิจกรรมเจาะตลาดเป้าหมาย 7 ภูมิภาค คาดจะสร้างมูลค่าการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 19,250 ล้านบาท ทำให้มูลค่าส่งออกภาพรวมอยู่ที่ 290,300-293,000 ล้านเหรียญฯ จากปี 65 ที่ทำได้ 287,400 ล้านเหรียญฯ


สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการ มีทั้งเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า ด้วยกลยุทธ์สำคัญ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การส่งออกใน 7 ภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยตะวันออกกลางและแอฟริกา คาดการส่งออกจะขยายตัว 20%, เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย เพิ่ม 2.2% จีน เพิ่ม 1% ฮ่องกง เพิ่ม 2% ยุโรป เพิ่ม 1% อเมริกา เหนือ เพิ่ม 4.5% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 4% เอเชียใต้ เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 6.6%


นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันสินค้าท้องถิ่นของไทย รวมถึงจะร่วมมือกับภาคเอกชน ตั้งคณะทำงานเป็นรายกลุ่มคลัสเตอร์ หรือกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินการส่งออกเป็นรายคลัสเตอร์และรายสินค้า เช่น หากตลาดส่งออกปัจจุบันชะลอตัว จะมีทางขยายไปยังตลาดอื่นใดได้บ้าง หรือใช้วิธีการใด กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างไร


“ในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย โดยเฉพาะค่าเงินบาทผันผวน มาตรการกีดกันทางการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ฯลฯ ดังนั้น ต้องช่วยกันปลุกภาคเอกชนให้ฮึดขึ้นสู้ โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทำงานที่ 1-2% ถ้าทำเต็มที่แล้ว แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ไม่เป็นไร ถึอว่า ได้พยายามที่สุดแล้ว”


ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการผลิตที่หนักมาก ทั้งจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ที่ส่วนใหญ่เรานำเข้า อีกทั้งยังมีปัญหาซัปพลายเชน รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก แต่จากนี้ ไม่รู้จะมีปัญหาอะไรเข้ามาซ้ำเติมอีก ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ถ้าขึ้นปีละครั้ง และผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ที่พิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นายจ้างไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นการขึ้นตามนโยบายการเมือง จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ และเป็นอันตรายมาก เพราะนักลงทุนที่กำลังจะมาลงทุนในไทย ต้องทบทวนอย่างหนัก เพราะค่าแรงเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ หลายบริษัทชะลอการลงทุนเพราะความไม่ชัดเจนของนโยบายการขึ้นค่าแรง หากรัฐบาลยังใช้ค่าแรงงานเป็นเครื่องมือทางการเมือง จะต้องพิจารณาให้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย