นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย พร้อมแล้วทั้งข้อมูลและ ส.ส.ทั้ง 15 คนที่จะอภิปราย โดยบางคนจะพูด 2 ครั้ง ดังนั้น เท่ากับจะมีการอภิปราย 19 ครั้งจาก ส.ส.15 คน และหลังจากการอภิปราย เตรียมนำหลักฐานยื่นเอาผิดและถอดถอนรัฐมนตรีอย่างน้อย 4 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญาและ ป.ป.ช.
สำหรับการบูรณาการข้อมูลของฝ่ายค้านนั้น แต่ละพรรคส่งหัวข้อและประเด็นมา แต่ไม่ได้ลงลึกรายละเอียด ซึ่งเพื่อไทยจะประสานกับทุกพรรค แม้บางเรื่องจะเป็นประเด็นเดียวกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน จึงไม่ซ้ำซ้อนกันแน่นอน
เมื่อถามว่า เตรียมรับมือการประท้วงอย่างไรบ้าง นายประเสริฐ ระบุว่า ได้เตรียมวอร์รูมและเตรียม ส.ส.ในสภาเพื่อตอบโต้แล้ว หากประท้วงไม่มีเหตุผล ก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจน และใครประท้วงก็ต้องหักเวลาฝ่ายนั้น ส่วนตัวอยากให้ประธานการประชุมควบคุมการประชุมอย่างเคร่งครัด เพราะมีหลายประเด็นที่ยังไม่ทันเปิดประเด็นก็เตรียมประท้วงกันแล้ว จึงขอให้ฟังก่อนว่าอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง อยากวอนฝ่ายรัฐบาลว่า ขอให้การประท้วงอย่างมีเหตุผล เป็นไปตามข้อบังคับ เพื่อให้การอภิปรายสะดุดน้อยที่สุด ทั้งนี้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลญัตติในส่วนของนายกรัฐมนตรีที่อาจจะพาดพิงถึงสถาบันนั้น นายประเสริฐ ระบุว่า ญัตติที่บรรจุในระเบียบวาระ ถือเป็นญัตติที่ถูกต้องแล้ว หากจะประท้วงตั้งแต่เปิดญัตติก็ไม่มีเหตุผล ควรประท้วงเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายเกินเลยมากกว่า
ส่วนญัตติขอให้รัฐสภาลงมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่จะเข้าสู่ระเบียบที่ประชุมรัฐสภา ในวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหรือไม่ นายประเสริฐ ยอมรับว่า จะทำให้สะดุดอย่างแน่นอน และฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น จึงอยากให้รัฐสภาได้ฟังเหตุผล ว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอ ไม่ได้เกินเลย อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง อยากให้สมาชิกทุกคนฟังเหตุผลเป็นหลัก อย่าพวกมากลากไป ไม่เช่นนั้น ประเทศชาติจะเสียหาย เพราะเดิมกำหนดไทม์ไลน์ไว้อย่างแน่นอน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็รับปากว่า จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว
เมื่อถามความเห็นถึงเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมากับสถานการณ์การเมืองในประเทศ นายประเสริฐ กล่าวว่า การต่อสู้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องจำเป็น แต่แนวทางทั้งสองประเทศแตกต่างกัน เพราะประเทศไทยมีกระบวนการในรัฐสภา และการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ รวมถึงมีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ย้ำว่า การต่อสู้ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้มาเพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์