15 พ.ย.2564 – ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พิจารณาเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย.นี้ เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ควรรับหลักการในวาระที่ 1 เราจะมีเหตุผลเพื่ออภิปรายประกอบในการรับหลักการ แต่ละพรรคจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ตนสนใจ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ สิ่งที่ทำให้เรามีมติรับหลักการคือ 1.มีเจตนาและจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 2.ปรับโครงสร้างของระบบรัฐสภา จากเดิมที่มีส.ส. และ ส.ว. ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว 3.การสร้างกลไกในการตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น ให้มีผู้ตรวจการของสภา 3 คณะ อาทิ ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า 4.การปรับโครงสร้างอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ รวมไปถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 5.การยกเลิกการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ที่กระทำการยึดอำนาจทั้งก่อน ปัจจุบันและอนาคต 6.การสร้างกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพิ่มกลไกให้เข้มข้นขึ้น โดยการยกเลิกมาตรา 48 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ซึ่งจะส่งผลต่อรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 279 โดยการใช้เสียง 2 ใน 3 ต่อการเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดอภิปราย ซึ่งจะนัดหมายประชุมกันในสัปดาห์หน้าว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องอภิปรายเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน เชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ”นพ.ชลน่าน กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 จะใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล ขอวิงวอน ส.ส.ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน และให้เกียรติประชาชนโดยการรับหลักการในวาระที่ 1 ถ้าท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถใช้กระบวนการแปรญัตติเพื่อแก้ไขในวาระที่ 2 ได้