- พาณิชย์ยันทำได้ดีแล้วแม้ปัจจัยลบรุมเร้าหนัก
- แต่สงครามการค้าดันส่งออกพุ่งกว่า2พันล้านเหรียญฯ
- ย้ำปี63ถ้าส่งออกทะลุเดือนละ2.1หมื่นล้านโตได้แน่3%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการส่งออกสินค้าไทยในเดือนธ.ค.62 ว่า มีมูลค่า 19,154.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.28% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.61 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 573,426 ล้านบาท ลดลง 9.62% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,558.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.54% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 563,799.3 ล้านบาท ลดลง 5.98% เกินดุลการค้า 595.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 9,6268 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำ และน้ำมัน ที่มีความผันผวนของราคาออกแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนธ.ค.62 จะขยายตัวเป็นบวก 1.2%
ขณะที่ทั้งปี 62 การส่งออกมีมูลค่า 246,244.5 ล้านเหรียญฯ ลดลง 2.65% เมื่อเทียบกับปี 61 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7.628 ล้านล้านบาท ลดลง 5.93% การนำเข้ามีมูลค่า 236,639.9 ล้านเหรียญ ลดลง 4.66% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7.437 ล้านล้านบาท ลดลง 7.77% โดยเกินดุลการค้ารวม 9,604.6 ล้านเหรียญฯ หรือ 190,351.7 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 62 ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในยุโรป ความไม่แน่นอนจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิต) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ กดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันตลอดทั้งปี สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จนกระทบต่อการส่งออก และสินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลกลดลง และบางรายการผลผลิตขาดแคลน ทำให้ไม่มีของขาย
ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้า ที่มีต่อการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า และกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ของจีนนั้น ผลกระทบเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ย.62 และทั้งปี 62 การส่งออกสินค้าไทยได้รับประโยชน์จากสงครามการค้ารวม 2,436.9 ล้านเหรียญฯ
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงแนวโน้มการส่งออกปี 63 นั้น อยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าแต่ละเดือนส่งออกได้มูลค่าเกิน 20,000 ล้านเหรียญฯ จะทำให้ส่งออกทั้งปีขยายตัว 1.5-2% แต่ถ้าได้ถึง 21,278 ล้านเหรียญฯ จะขยายตัวได้ถึง 3% แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายอย่างเป็นทางการ ต้องรอประชุมทูตพาณิชย์ก่อน จึงจะกำหนดเป้าหมายเป็นทางการได้
“การส่งออกในปี 63 มีสัญญาณดีขึ้น จากการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีความชัดเจนเรื่องเบร็กซิต ทำให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และกระทรวงฯ มีแผนบุกเจาะตลาดเป็นรายประเทศ 18 ประเทศ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายตลาด รวมทั้งจะเร่งผลักดันสินค้าดาวรุ่งที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น”