ปั้น“อุตรดิตถ์”เป็นศูนย์กลางคุมเข้มส่งออกทุเรียนภาคเหนือ

  • กรมวิชาการเกษตรลุยขยาย “จันทบุรีโมเดล”
  • เน้นย้ำมาตรการห้ามสวมสิทธิ์ผลไม้ทุกชนิด

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการควบคุมมาตรฐานส่งออกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พร้อมมอบนโยบายกำชับให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พร้อมศูนย์เครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกันบูรณาการปฏิบัติงานรักษาคุณภาพมาตรฐานผลไม้ไทยตามนโยบาย Premium Thai Fruit โดยนำ “จันทบุรีโมเดล” ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 มาเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน พร้อมเน้นย้ำตรวจสอบผลไม้ทุกชนิดทั้งส่งออกและนำเข้าต้องได้คุณภาพและปลอดจากแมลงศัตรูพืช รวมไปถึงตรวจสอบแหล่งที่มาของผลไม้ ห้ามมีการสวมสิทธิ์ผลไม้ทุกชนิดโดยเด็ดขาด

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเตรียมการส่งออกทุเรียนภาคเหนือ โดยส่งไม้ต่อจากจันทบุรี ตามโครงการ ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ มุ่งสู่ทุเรียนพรีเมี่ยมที่ 1 ของโลก โดยมีจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นศูนย์กลาง สำหรับพื้นที่ปลูกทุเรียนภาคเหนือตอนล่างมีทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและพิษณุโลก โดยมีทั้งพันธุ์หมอนทอง พวงมณี หลงลับแล กระดุม มูซังคิง และหลินลับแล มีพื้นที่ปลูกทุเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่างได้รับการรับรอง GAP ทั้งหมด 9,492 ไร่ ปริมาณผลผลิตในปี 2566 รวมจำนวนประมาณ 10,717 ตัน โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ให้ผลผลิตมากที่สุดจำนวน 6,616 ตัน ทุเรียนที่ส่งออกไปประเทศจีนเป็นพันธุ์หมอนทอง 90%

 “จากการดำเนินการควบคุมคุณภาพและตรวจรับรองสุขอนามัยพืชการส่งออกทุเรียนในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2566 อย่างเข้มงวด  พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรอย่างใกล้ชิด เข้มข้น รักษาคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกไปยังประเทศจีน ทำให้การส่งออกเป็นไปด้วยความราบรื่นในทุกเส้นทาง ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว