

ผู้ว่า รฟม.งง! ไม่รู้มาก่อน บีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.-คณะกรรมการมาตรา36”ต่อศาลอาญาคดีทุจริต ยืนยัน!ทำตามเงื่อนไขระเบียบกฎหมายกรณีเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล-ยกเลิกรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นายภคพงษ์ ศิริกันทมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อผู้บริหาร รฟม.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนการก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก และการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ว่า ขนาดนี้ยังไม่ทราบข่าวว่าทางกลุ่มบีทีเอสยื่นต่อศาล คงต้องขอดูในรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการดำเนินการของ รฟม. และ คณะกรรมการมาตรา 36 ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับและกรอบของกฎหมายที่ รฟม. สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเอกสารแนบท้ายในสัญญาได้มีการสงวนสิทธิ์ที่จะให้ รฟม. เปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกได้ในฐานะเจ้าพนักงานของภาครัฐ ดังนั้นคงต้องขอไปดูในรายละเอียดอีกครั้งว่าเป็นไปอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและเดินรถไฟฟ้า BTS ได้เดินทางไป ยื่นฟ้อง ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
ทั้งนี้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนงานโยธาฝั่งตะวันตกและเดินรถตลอดเส้นทาง ซึ่ง รฟม. และผู้เกี่ยวข้องได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังจากเอกชนได้ซื้อซองประมูลแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง BTSC ได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา รฟม. กลับทำการยกเลิกการประมูล ส่งผลให้ BTSC ผู้ยื่นซองข้อเสนอได้รับความเสียหาย จึงต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในครั้งนี้
ทั้งนี้ ศาลได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 และนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2564