

- บิ๊ก AOT ลั่นเดินหน้าลุย 2 โปรเจกต์ใหญ่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” เปิดแน่อาคารหลังใหม่ “SAT 1” ก.ย.66 ปลดล็อกจุดวิกฤตพลิกโฉมสู่มิติใหม่ได้ครบ 5 เรื่อง
- “เพิ่มห้องพักคอยผู้โดยสาร 2 แสนตรม.-เพิ่มรันเวย์ 3 ลดแออัด–ลดใช้บัสเกต 30%-สร้างFlight Transit Hub เข้ายุโรป–โชว์พลังซอฟท์เพาเวอร์ด้านวัฒนธรรม”
- เสนอลงทุนใหม่แยก “อาคารผู้โดยสารในประเทศ” เล็งต่อขยายด้านทิศเหนือ North Expansion 4 หมื่นล้าน รองรับ 5 ปีหน้า อนาคตปี’71 ผู้โดยสารเกิน 95 ล้านคน
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “AOT/ทอท.” เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าโครงการแรก “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1” (SAT 1 :Satlellite Teminal 1) สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมูลค่าการลงทุน 39,670 ล้านบาท จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.เดือนมิถุนายน2566 เพื่อกำหนดวันเปิดอย่างไม่เป็นทางการ (Soft Opening) ไปก่อนภายในกันยายน 2566 เป็นต้นไป เมื่อเปิดแล้วจะช่วยแก้ทั้งจุดวิกฤตสร้างความคุ้มค่าและสามารถพลิกโฉมบริการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิก้าวมิติใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 เพิ่มพื้นที่ห้องพักคอยให้ผู้โดยสารได้กว่า 200,000 ตารางเมตร ซึ่งได้ดีไซน์ให้มีสนามเด็กเล่น พื้นที่ไลฟ์สไตล์ พื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้บริการอย่างมีความสุข พร้อมกับสามารถเดินช้อปปิ้งซื้อสินค้าแถมยังเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้เข้าประเทศมากขึ้นจากผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวทั่วโลก

เรื่องที่ 2 เพิ่มทางวิ่ง (runway) ที่ 3 พร้อมหลุมจอดเครื่องบินได้อีก 28 หลุมจอด หรือเพิ่มขึ้น 40 % จากปัจจุบันมีอยู่51 หลุมจอด และโดยภาพรวมจะขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันอาคารผู้โดยสารหลังหลัก(Main Terminal) รับได้ 45 ล้านคน/ปี SAT 1 รับได้ 15 ล้านคน/ปี
เรื่องที่ 3 เพิ่มสิ่งอำนวยความให้ผู้โดยสารด้วยการลดใช้ประตูรถบัสเพื่อนำผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบิน (bus gate) ที่ตอนนี้ใช้อยู่ 30 % เมื่อเปิดใช้บริการ SAT 1 อย่างเป็นขั้นตอน ผู้โดยสารระหว่างประเทศก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้บัสเกตอีกต่อไป
เรื่องที่ 4 พัฒนาเป็นสนามบินศูนย์กลางการต่อเที่ยวบินเข้าสู่ยุโรป (Flight Transit Hub) จากประเทศต้นทางที่บินมาแวะพักสุวรรณภูมิเพื่อบินต่อไปยังประเทศปลายทางแถบยุโรป ปัจจุบันมีอยู่ประมาณวันละ 70-80 เที่ยว ตามปกติหลายสายการบินนานาชาติจะนำเครื่องมาใช้หลุมจอดในสุวรรณภูมิพักเครื่องเกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งมีอุปสรรคจะต้องถอยเครื่องบินเข้าออก เพื่อให้สายการบินอื่น ๆ ที่จะบินก่อนได้ใช้งาน

เรื่องที่ 5 ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์พลัง Soft Power วัฒนธรรมไทยให้ทั่วโลกเข้าใจเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง เพราะภายในอาคาร SAT 1 ได้จัดทำประติมากรรมช้างไทย พร้อมทั้งพระพุทธรูปให้ผู้ใช้บริการได้สักการะด้วย
ซึ่งทาง ทอท.จะบริหารจัดการเที่ยวบินในอาคาร SAT 1 เพื่อให้บริการผู้โดยสารต่อเที่ยวบินเป็นหลัก โดยจะยังคงใช้อาคารผู้โดยสารปัจจุบันเป็นหลักเพื่อเช็คอินและดำเนินการตามขั้นตอนการเดินทางครบให้ทุกขั้นตอน และจัดให้มีระบบ ICS เช็คอินกระเป๋าสัมภาระโหลดขึ้นเครื่องต่อเที่ยวบินลำเลียงไปยังสายการบินแต่ละลำที่อาคาร SAT 1 โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที
ส่วน “ผู้โดยสารต่อเครื่อง” ทางสนามบินสุวรรณภูมิได้จัดบริการรถไฟฟ้ารางเบาไร้คนขับ APM :Automated People Move ไว้แล้ว โดยมีทางขึ้นลงอยู่ตรงด้านหลังประติมากรรมรูปกวนเกษียณสมุทร ขนส่งเชื่อมการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังหลักไปยังอาคาร SAT 1 ซึ่งใช้เวลาไม่กี่นาที
นายกีรติ กล่าวว่า โครงการที่ 2 ทำแผนลงทุน “อาคารผู้โดยสารในประเทศ” (Domestic Terminal) แยกออกจากอาคารผู้โดยสารหลังหลักปัจจุบันในสุวรรณภูมิ (Main terminal) ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่รองรับด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร (Curve site) ที่จะเชื่อมการขนส่งกับการเดินทางทางบกหรือรถโดยสารต่าง ๆ ไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนงานเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ขยายอาคารสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิทางฝั่งด้านทิศใต้ (South Expansion) มูลค่า120,000 ล้านบาท กับฝั่งด้านทิศเหนือ (North Expansion) มูลค่า 40,000 ล้านบาท ถึงทางเลือกที่เหมาะสม

ขณะนี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเลือกลงทุนทางฝั่งด้านทิศเหนือ เพราะสามารถเชื่อมโยงบริการเดินทางทางอากาศเข้ากับการเดินทางทางบกด้วยโครงข่ายไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา” ได้อย่างลงตัว
ส่วนการใช้เงินลงทุนส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทิศตะวันออก (East Expansion) กับ ทิศตะวันตก (West Expansion) ตามที่กระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้เดินหน้าใช้งบประมาณขยายทั้งสองฝั่งแล้วรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่ข้างละประมาณ 70,000 ตารางเมตร รวมแล้วจะเพิ่มได้ 14,000 ตารางเมตร เพื่อเตรียมใช้รองรับผู้โดยสารในอาคารหลังหลัก (Main terminal) ให้ได้มากที่สุดปีละ 120 ล้านคน นั้น
เป้าหมายในการขยายพื้นที่อาคาร “ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก” เป็นเรื่องของการ “เพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณคนใช้บริการ” อีก 200,000 ตารางเมตร จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 500,000 ตารางเมตร
ส่วนการขยายอาคาร “ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้” เป็นการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งระหว่างทางอากาศกับทางบกหรือทางพื้นราบ เพื่อให้ผู้โดยสารใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ลดปัญหาแออัดต่างๆ ในอนาคตลงให้ได้ดีที่สุด
ขณะนี้ ทอท.คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการวางแผนโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกเรียบร้อยแล้วจากนั้นจะเปิดประมูลการก่อสร้างได้ช่วงต้นปี 2567 เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานในอาคารมากขึ้นได้อีก 70,000 ตารางเมตรจากนั้นก็จะทยอยส่วนต่อขยายทางด้านทิศตะวันตกในอาคารผู้โดยสารหลักควบคู่กันไป
เป็นการเตรียมความพร้อมขยายพื้นที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิแต่ละส่วนให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA :International Air Transport Association) ระบุปี 2567 สุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารใช้บริการปีละไม่ต่ำกว่า 65 ล้านคน และตั้งแต่ปี 2571 จะขยับขึ้นเป็นปีละไม่ต่ำกว่า 95 ล้านคน

นายกีรติ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมีขีดจำกัดเรื่องหลักสำคัญคือ “จะขยายรันเวย์” ได้ไม่เกิน 4 รันเวย์เท่านั้น ตามหลักการขยายพื้นที่ทั้งหมดแล้วก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เต็มที่ปีละ 120-150 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งทำไปพร้อมกับการสร้าง SAT 1 ซึ่งจะทยอยเริ่มเปิดบริการได้ตั้งแต่กันยายน 2566 เป็นต้นไป ตอนนี้มีสายการบินนานาชาติจองใช้บ้างแล้ว ส่วนแผนงานอนาคตจำเป็นจะต้องนำเสนอการลงทุนขยายพื้นที่อาคารด้านทิศเหนือควบคู่กันไป จึงจะสามารถทำให้สุวรรณภูมิเป็นสนามบินนานาชาติที่มีความพร้อมรองรับผู้โดยสารภาคพื้นดินที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของปริมาณจราจรทางอากาศจากสายการบินนานาชาติที่จะเป็นส่วนสำคัญเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศเข้ามายังไทย ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องทุกปี
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen