บสย.​หารือคลังออกโครงการค้ำประกันอุ้มเอสเอ็มอี 250, 000 ล้านบาท



  • ผ่อนปรนเงื่อนไข-ขยายการค้ำประกันให้มากขึ้น
  • เปยสินเชื่อsmeสร้างไทยค้ำประกันแล้วกว่า 4แสนล้านบาท


นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บสย.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เพื่อออกโครงการค้ำประกันช่วยเอสเอ็มอี(SMEs) จำนวน 250,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสิน เชื่อระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 200,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs ) ระยะที่ 4 อีกจำนวน 50,000 ล้านบาท

สำหรับทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขมากขึ้น เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 9 จะมีการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยในปีแรกจะค้ำประกันให้ถึงอัตรา 5-7% ต่อปี เพื่อจูงใจให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่ปกติ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 30% ในระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ส่วน Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 จะขยายเงื่อนไขการค้ำประกันสูงขึ้นเป็น 500, 000 บาท จากเดิมค้ำประกันแค่ 200, 000 บาท เพื่อรองรับการว่างงานจากโควิด-19

ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการบสย. SMEs สร้างไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เป็นหนี้ที่ก่อให้ไม่เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ปัจจุบันใช้วงเงินค้ำไปแล้ว 40,000 ล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าอีก 20,000 ล้านบาทที่เหลือซึ่งมีการยอดจองเข้ามาหมดแล้วคาดว่าจะค้ำประกันหมดภายในมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการนี้มีความต้องการสูง ดังนั้นในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 9 บสย.จะจัดสรรวงเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในโครงการบสย. SMEs สร้างไทย และจะปรับเงื่อนไขการค้ำประกันให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมต้องเป็นเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล จะขยายเป็นผู้ประกอบการที่ค้างชำระของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งจากจำนวนเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าบสย. จำนวน 3 ล้านรายนั้น มีผู้ค้างชำระหนี้ หรือจ่ายหนี้ไม่สม่ำเสมอเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 15% ของจำนวนเอสเอ็มอี 3 ล้านคน

ส่วนการค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการจากผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ นั้น บสย.จะเข้าไปสร้างกลไกเพื่อสร้างความเป็นธรรมในเรื่องของดอกเบี้ยที่คิดกับเอสเอ็มอีให้ยุติธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามหนี้เอ็นพีแอลของบสย.ปัจจุบันอยู่ที่ 4% ซึ่งบสย.พยายามประคองให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป

ทั้งนี้ บสย.ยังได้ปรับกระบวนการทำงาน เพื่อรับมือกับ New Normal หรือความปกติรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้กระบวนการทำงานเร็วขึ้น เช่น สามารถอนุมัติคำขอค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ได้เร็วขึ้น 4 เท่า จากเดิมค้ำประกันได้วันละ 350 ฉบับ เป็น 1,400 ฉบับต่อวัน เป็นต้น นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด บสย. ยังได้ลดจำนวนพนักงานที่มาทำงานที่สำนักงานใหญ่ลงเหลือ 1 ใน 3 ซึ่งเป็นไปตามหลักการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing)

สำหรับผลงานของ บสย.ในช่วงเดือน ม.ค.- 15 พ.ค.นี้ มีการอนุมัติวงเงินค้ำประกันแล้ว 58,100ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 103% คิดเป็นจำนวนหนังสือค้ำประกัน 80,267 ฉบับ เพิ่มขึ้น227% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในจำนวนลูกค้าที่ค้ำประกันนั้น เป็นลูกค้าใหม่ 64,202 ราย เพิ่มขึ้น 216% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามปัจจุบัน บสย.มีวงเงินค้ำประกันสะสมจากตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 905,000 ล้านบาท มียอดค้ำประกันสะสม 421,665 ล้านบาท และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รวม 478,467ราย