บสย.จัดให้! ลุยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10 วงเงิน 5 หมื่นล้าน เปิดโอกาสหาบเร่ สตาร์ทอัพ ธุรกิจสายเขียวเข้าถึงแหล่งเงินทุน

  • ชูออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุม ผู้ประกอบการ SMEs ผ่าน 6 โครงการย่อย
  • สตาร์ท อัพ สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ สมอลล์ บิซ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย สมาร์ท วันสำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา
  • สมาร์ท บิซ สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล สมาร์ท กรีน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่ต้องการเสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ESG
  • เผยมีส่วนช่วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท ช่วยรักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่าจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 10 วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ บสย. ได้เร่งดำเนินการเพื่อเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ โดยแจ้งไปยังสถาบันการเงินที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบริการในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ เป็นต้นไป   

“ในช่วงแรกทาง บสย. จะใช้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 30,000 ล้านบาทก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนยอดค้ำประกันนี้จะเต็มวงเงิน จากนั้นก็จะมีอีก 20,000 ล้านบาท เป็นระยะที่ 2 ต่อไป” 

ทั้งนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ที่ บสย. พัฒนาขึ้น โดยจัดสรรวงเงินระยะแรกที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการSMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ PGS 10 ในครั้งนี้ ยังได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุม ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ดังนี้  

1.สตาร์ท อัพ (Start up) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่ต้องการเงินทุนสำหรับเริ่มต้นกิจการใหม่ ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3% ต่อปีฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน วงเงินค้ำประกันระยะแรก 1,000 ล้านบาท

2. สมอลล์ บิซ (Small Biz) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ  วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน  200,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 3,000 ล้านบาท

3.สมาร์ท วัน  (Smart One)  สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ Covid-19 ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง  วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า  200,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 10,000 ล้านบาท

4.สมาร์ท บิซ  (Smart Biz) สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการยกระดับเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจหรือขยายธุรกิจรองรับการเติบโต  ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง  วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท  รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า  200,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปีฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 15,000 ล้านบาท

5.สมาร์ท กรีน (Smart Green) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนา เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  และ  BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมวงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท 

6. สมาร์ท พลัส (Smart Plus) เป็นนวัตกรรมค้ำประกัน ใช้คู่กับโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท

นายสิทธิกร กล่าวด้วยว่า โครงการ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดวันรับคำขอ ในวันที่ 27 ก.พ. 68 จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ที่จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยรักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา 

นอกจากนี้ PGS 10 ทาง บสย. จะค้ำประกันหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ 22-40% ของพอร์ตสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการ โดยการค้ำประกันสินเชื่อของกลุ่ม Start up จะสูงสุดอยู่ที่ 40% เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

“สำหรับในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าจะมียอดการค้ำประกันทั้งปีอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 66 สามารถทำยอดการค้ำประกันไปได้แล้ว 15,000 ล้านบาทในส่วนของสินเชื่อที่ค้ำประกันแล้วกลายเป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า Non Performing Guarantee (NPG) ณ สิ้นปี 65 อยู่ที่ 7-8% ของยอดค้ำประกันรวมสะสมอยู่ที่700,000 ล้านบาท” 

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่เรียกว่า PGS แล้ว ทาง บสย.ยังมีผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่ดำเนินการด้วยตัวเอง คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันในปีนี้อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่ 2% ของยอดสินเชื่อที่ขอค้ำประกัน รวมถึงมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 61,500 ล้านบาท ซึ่ง บสย. คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1% รวมถึงให้ฟรีค่าธรรมเนียมใน 2 -3 ปีแรก