บพท.-ธนาคารโลกผนึกปั้นเศรษฐกิจ 5 เมืองรองปลดล็อกองค์กรท้องถิ่น “ระดมทุน-จัดคลัง” เอง

บพท.สานพลังธนาคารโลกเปิดงานวิจัยปั้นเมืองรองอู้ฟู่ 5 จังหวัด “เชียงใหม่-นครสวรรค์-ขอนแก่น-ระยอง-ภูเก็ต”

  • เปิดทางองค์กรปกครองท้องถิ่นระดมทุน จัดระบบการคลังได้อิสระ
  • อัดฉีดเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำในพื้นที่

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่าบพท.ได้นำเสนอรายละเอียดผลวิจัยแนวทางยกระดับเมืองรองนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ขอนแก่นระยอง ภูเก็ต โดย บพท กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรลุความร่วมมือกับธนาคารโลกเดินหน้าศึกษาวิจัยเมืองรองดังกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตยกระดับคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงให้ได้มากที่สุด

ผลการวิจัยเบื้องต้นพบการให้อำนาจและเครื่องมือแก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งการใช้ศักยภาพระดมทุนได้เองบริหารจัดการงบประมาณได้เอง และตัดสินใจร่วมมือกับเอกชนได้เอง โดยมีกลไกติดตามประเมินผลคอยกำกับตรวจสอบใกล้ชิด จะทำให้เมืองรองเข้มแข็งขึ้น ช่วยเสริมพลังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่อย่างตรงจุด มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างแหล่งงานดูดซับแรงงานในพื้นที่ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ได้ด้วย

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การวิจัยพบข้อมูลสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่น ช่วยอำนวยความสะดวกให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการระดมทุนได้เอง นำไปสู่การพึ่งพาตัวเองขององค์กร เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งกับการยกระดับเมืองรอง ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถกำหนดแผนงานโครงการ ตามความต้องการของท้องถิ่นได้ตรงจุด

โดยพบว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรปกครองท้องถิ่นควรพิจารณาดำเนินการ จะเกี่ยวเนื่องกับ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม 2.การบริการสาธารณะ 3.พลังงานทดแทน และการจัดการขยะสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมเขียวตามบริบทสากล ทั้งมิติ BCG (Bio Circular Green) หรือ ESG (Environmental Social Governance)

เป็นวิธีปลดล็อคเงื่อนไขอุปสรรคการพัฒนาพื้นที่ โดยเสริมพลังให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นในการระดมทุนได้เองและมีช่องทางหารายได้ของตัวเอง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ ครอบคลุมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อพัฒนาและสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) กล่าวว่า เมืองรองมีบทบาทอย่างสำคัญ 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต ด้านที่ 2 บรรเทาความยากจนในชนบท ทางกระทรวงการคลังจะนำข้อค้นพบจากงานวิจัยไปใช้เป็นแนวทางการสนับสนุนการเติบโตของเมืองต้นแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน

มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดมทุนด้วยตัวเอง และบริหารจัดการงบประมาณตามแผนงานโครงการของตัวเอง ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในเชิงคุณภาพ ประสิทธิภาพของการพัฒนาพื้นที่ แต่ยังมีส่วนช่วยลดภาระทั้ง 1.ลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลาง 2.ช่วยลดภาระของฐานะการคลังรัฐบาลลงได้มาก เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของภาพรวมของประเทศในมิติที่ดีด้วย

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen