น่าคิด… “เศรษฐา” ลั่นถึงเวลา “หุ้นกู้” เป็นระบบกระดานแลกเปลี่ยนหรือยัง? ชี้เป็นโอกาสให้รายย่อยลงทุนได้มากขึ้น



วันที่ 14 ต.ค.2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวถึงเรื่อง “หุ้นกู้” สินทรัพย์การลงทุนของโลกเก่าจะไปทางไหนในโลกการเงินสมัยใหม่ โดยระบุว่า…

โลกการเงินหมุนไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริมการทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นเงินคริปโต บล็อคเชน หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่นับวันก็จะฉลาดขึ้น เรื่อยๆ โดยสิ่งที่เราเห็นคือความเปลี่ยนแปลงที่คนธรรมดาสามัญสามารถเข้าถึงสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งให้ตัวเองได้หลากหลายทางเลือกมากขึ้น ผ่านโครงสร้างของระบบต่างๆ ที่มีความโปร่งใสและมีความเป็น “ประชาธิปไตยทางการเงิน” มากขึ้น(democratisation of finance)

“การกระจายอำนาจและสิทธิ์ในการบริหารธุรกรรมการเงินการลงทุนให้คนธรรมดาสามัญ เพื่อที่ทุกคนที่มีสิทธิ์นั้นๆจะได้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครยืนอยู่เหนือกว่า หรือมีสิทธิ์มากกว่าใคร” นี่คือไอเดียสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงความมั่งคั่งส่วนบุคคล

“ตราสารหนี้” หรือ “หุ้นกู้” ก็นับว่าเป็นสินทรัพย์การลงทุนชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากทั้งนักลงทุนเอง และตัวองค์กรที่ต้องการระดมทุน ผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนมีความน่าสนใจ และชัดเจนกว่าถ้าเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารช่วงนี้ และมีตัวเลือกมากมาย โดยในปีนี้คาดการณ์กันว่า ประเทศไทยจะมีหุ้นกู้ออกขายมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่ต้องบอกว่ากลไกของตลาดหุ้นกู้ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับไอเดีย ประชาธิปไตยทางการเงินที่ผมกล่าวด้านบนสักเท่าไหร่

แล้วปัญหาของมันคืออะไร? 

นายเศรษฐา กล่าวค่อว่า ถ้าผมมองในมุมของนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม ก็รู้กันอยู่ว่านักลงทุนประเภทสถาบันรายใหญ่ จะมีโอกาสเข้าถึงหุ้นกู้มากกว่ารายย่อย ผ่านกลไกปัจจุบันที่ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง เป็นการซื้อขายแบบ OTC Over the Counter ผ่านสถาบันการเงินตัวกลาง หรือ dealer ซึ่งปกติมักจะเป็นการขายให้รายใหญ่ไม่กี่ราย เพราะขายล็อตใหญ่ ง่ายกว่า เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลามากกับการจัดระบบหลังบ้านเพื่อรองรับการซื้อขายของรายย่อยหลายๆ ราย นอกจากนี้แล้วปกติรายการซื้อหุ้นกู้ขั้นต่ำที่ตั้งกันไว้ที่100,000 บาท ก็ยังเป็นข้อแม้ที่นักลงทุนรายย่อยมือใหม่ๆ เข้าถึงได้ค่อนข้างยาก

ซื้อขายตลาดแรกก็เป็น OTC แล้ว ตลาดรองของหุ้นกู้ก็ยังใช้กลไก OTC เช่นกัน เป็นการยกหูคุยตกลงราคาแบบวงปิดระหว่าง 3 ฝ่าย ซึ่งโดยมากก็จะเป็นการซื้อขายล็อตใหญ่ๆ ไม่ต่างกับเมื่อออกขายครั้งแรก นอกจากนี้แล้วกลไกการขายแบบ OTC นี้ ยังทำให้ dealer ตัวกลางมีส่วนได้ส่วนเสียกับส่วนต่างราคาที่ถูกนำเสนอขายด้วย จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากระบบการขายแบบกระดานแลกเปลี่ยนของตลาด “ตราสารทุน” หรือ “หุ้น” ที่โปร่งใสมีการแสดงราคาเสนอขาย เสนอซื้อให้ทุกคนบนกระดานเห็นเหมือนกันหมด และตัวกลางได้แค่ค่า commission ในอัตราที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ดังนั้นผมจึงมองว่าตลาดรองของหุ้นกู้ก็ควรจะเป็นระบบกระดานแลกเปลี่ยนเช่นกันครับ แม้จะมีเงื่อนไขเช่นเรื่องอัตราดอกเบี้ย เรตติ้งของหุ้นกู้มาเป็นปัจจัย แต่อย่างไรผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้แล้วคงจะไม่ผิดนักถ้าผมบอกว่า กลไกตลาดแรกและตลาดรอง ของหุ้นกู้ขัดกับเทรนด์ของโลกการเงินในยุคดิจิทัลที่เน้นความโปร่งใส ความเท่าเทียม และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยิ่งตอนนี้มีตัวช่วยขับเคลื่อนเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเช่นการแยกส่วน (fractionalize) ผ่านระบบบล็อคเชน ซึ่งเริ่มใช้แพร่หลายแล้ว ทำไมไม่เอาเทคโนโลยีพวกนี้มาลองใช้ดู โดยเฉพาะกับตลาดรองของหุ้นกู้ 

“ลองนึกภาพตลาดนักลงทุนรายย่อยสามารถแยกย่อยเลือกซื้อ fraction ของหุ้นกู้กระจายพอร์ตตัวเองด้วยเงินไม่กี่แสนผ่านกลไกดังกล่าว  ผมว่าฟังดูแล้วน่าสนใจมากทีเดียว ที่อำนาจในการเลือกถูกกระจายไปอยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อยให้มีโอกาสเลือกที่หลากหลายมากขึ้น เปิดโอกาสในการเข้าถึงความมั่งคั่งได้เท่าเทียมกันมากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

ยิ่งกว่านั้นแล้วอยากให้มองอีกด้านของเหรียญด้วย จะเห็นได้ว่าความอุ้ยอ้ายของกลไกปัจจุบันทำให้หุ้นกู้เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีสภาพคล่อง หรือ liquidity ค่อนข้างต่ำ ถ้าหากตลาดรองของหุ้นกู้เป็นระบบกระดานแลกเปลี่ยนและมีสภาพคล่องสูง จะทำให้นักลงทุนอีกหลายๆ ราย โดยเฉพาะรายย่อยสนใจที่จะลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าบริษัทต่างๆ จะระดมทุนด้วยหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง และจะส่งผลให้บริษัทเล็กๆสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากกลไกของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี และเป็นเครื่องมือในการระดมทุนที่ไม่ซับซ้อนอย่างหุ้นกู้ ไม่สามารถถูกเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและโปร่งใส ไม่มีตลาดรองในรูปแบบกระดานแลกเปลี่ยนทั้งที่เทคโนโลยีก็ก้าวไปถึงไหนแล้ว ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องกลับมามองเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว