นโยบายเลิกใช้ถุงหิ้วพลาสติก กระทบโรงงานผลิตชะลอแผนลงทุน



  • วอนรัฐบาลทบทวนนโยบายเลิกใช้ถุงหิ้วพลาสติก
  • เผยเป็นวิถีชีวิตพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย อาจกระทบขายสินค้าไม่ได้
  • แนะควรหันมาให้ความสำคัญจัดการขยะพลาสติกแทน

นายธีรชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชนเปิดเผยว่า ตามที่ภาครัฐกำหนดให้กลุ่มห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เลิกแจกถุงหิ้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 .2563 นั้น บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะจำหน่ายถุงหิ้วพลาสติกไปยังตลาดอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ตลาดสดตลาดชุมชน และผู้ค้ารายเล็ก ไม่ได้ขายส่งให้ห้างสรรพสินค้า โรงงานจึงยังเดินเครื่องผลิตคิดเป็น 90% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีอยู่ โดยส่วนใหญ่บริษัทผลิตถุงสำหรับบรรจุอาหารร้อน ส่วนการผลิตถุงหิ้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งผลิตไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย ยอมรับว่า ผลจากการออกนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกของรัฐบาล ส่งผลทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ซึ่งเดิมบริษัทมีแผนที่จะขยายการผลิตอีกเท่าตัว จึงชะลอแผนเอาไว้ก่อนและหันไปเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แทน โดยขณะนี้่บริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมพร้อมที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ กล่องบรรจุอาหารที่ผลิตจากเยื่อไผ่ ซึ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าในอนาคตจะเข้ามามีบทบาททดแทนผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก

นายธีรชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าเลิกการใช้ถุงหิ้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งต่อเนื่อง ยอมรับว่ากระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตถุงหิ้วพลาสติกทั่วประเทศหลายร้อยราย ที่ขณะนี้ยอดขายลดลง 20-30% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่แล้ว การเลิกใช้ถุงหิ้วพลาสติกก็จะมีผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก

ข้อมูลจากผู้ผลิตเม็ดพลาสติกระบุว่า แต่ละปีการใช้พลาสติกผลิตถุงหูหิ้วประมาณปีละกว่า 200,000 ตัน หากไม่มีการใช้จะกระทบกับผู้ขายสินค้า โดยเฉพาะตลาดกลุ่ม ตลาดสด ตลาดชุมชน ร้านค้าขนาดเล็กและพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น ซี่งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบในจุดนี้ได้ ส่วนผู้ผลิตถุงหิ้วพลาสติกบางส่วนพร้อมปรับตัวหันไปผลิตสินค้าอื่น  ได้ในรายที่มีความพร้อม” นายธีระชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามอยากที่จะเสนอรัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายเลิกการใช้ถุงหิ้วพลาสติก โดยหันมาให้ความสำคัญในการจัดการขยะพลาสติกแทนด้วยการจัดให้มีโรงเผาขยะพลาสติกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ทำ ซึ่งนำเถ้าที่ได้จากการเผาไปใช้ถมทะเล ส่วนการใช้ไบโอพลาสติก ไม่เหมาะสมเพราะมีราคาสูงกว่าพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 4 เท่าตัว และการจะให้ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้จ่ายค่าถุงหิ้วสำหรับใส่สินค้า หากเป็นกลุ่มตลาดระดับบนที่มีกำลังจ่ายได้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าหากเป็นตลาดระดับล่างผู้มีรายได้น้อย อาจจะไม่เหมาะสม เพราะที่สมควรคือผู้ขายสินค้าเป็นผู้จ่ายค่าถุง