นโยบายด้านเกษตร 7 พรรคการเมือง



กลุ่มคนที่ถือได้ว่าเป็นฐานเสียงใหญ่ของประเทศไทย ก็คือ เกษตรกร ดังนั้นตลออดระยะเวลาที่ผ่านมา นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนจะเน้นเจาะเข้าไปในหัวใจของเกษตรกร แต่หลังได้รับเลือกตั้งแล้ว นโยบายที่สวยหรูมักจะแปรเปลี่ยน กลายเป็นเรื่องจำกัดวงแคบอยู่เฉพาะผลประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้อง ส่วนเกษตรกรก็ยังจนดักดานเหมือนเดิม 

การเลือกตั้งคราวนี้ The Journalist Club ได้หยิบยกนโยบายด้านเกษตรของ 7 พรรคการเมือง มานำเสนอ เพื่อให้เห็นแนวทางว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไรบ้าง และที่สำคัญก็คือจะได้นำมาวิเคราะห์และตัดสินใจกันได้ว่าในทางปฏิบัติจะช่วยให้เกษตรกรพ้นวงจรความยากจนได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่เพียงการเร่ขายฝัน โฆษณาชวนเชื่อ เหมือนที่ผ่านๆมา

นโยบายด้านเกษตรพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยระบุว่าปัจจุบันประชากรกว่า 40% อยู่ในภาคเกษตร แต่มีรายได้เพียงประมาณ 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) เป็นผลลัพธ์จากการเแก้ปัญหาในภาคเกษตรไม่ถูกจุด จึงทำให้เกษตรกรไทยอยู่ในวงเวียนวัฏจักรของความยากจน ดังนั้นการเกษตรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการเสียใหม่ ด้วยหลักคิด ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ คือ ผลิตสิ่งที่ตลาดมีความต้องการ มิใช่เพียงเพราะถนัดคุ้นเคย 

-นโยบายเพิ่มรายได้เกษตร รายได้ของเกษตกรจะเพิ่มเป็น “3 เท่าภายในปี 2570” จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี  โดย พรรคเพื่อไทยจะสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต 

-พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอกทันที เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของเกษตรกร 

-สร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตร

ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ใช้นวัตกรรม Blockchain เพื่อประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า 

-การผ่าตัดภาคเกษตรเริ่มที่การ “เพิ่มอุปสงค์และปรับอุปทานภาคการเกษตร” นำนวัตกรรมมาสนับสนุน การเพิ่มผลิตภาพ การลดต้นทุน การแปรรูปสู่มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแนวทาง 6 ประการ คือ 1.ดินนำน้ำดี 2.มีสายพันธุ์ 3.ยืนยันราคา 

4.จัดหาแหล่งทุน 5.หนุนนำนวัตกรรม 6.จัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน

-แนวทางการปฏิบัติของพืชเกษตรหลัก บางชนิดมีดังนี้

ข้าว ปรับเปลี่ยนนาหว่านสู่นาดำ / นาหยอด งดเผางดนำฟางออกจากแปลง ใช้จุลินทรีย์คุณภาพสูงเพื่อรักษาธาตุอาหารให้หมุนเวียน ลดต้นทุนค่าปุ๋ย เพิ่มผลผลิตต่อไร่

ยางพารา ปรับสูตรและเปลี่ยนวิธีใส่ปุ๋ยเสียใหม่ รักษาโรคเชื้อราที่ต้นยาง และฟื้นฟูต้นยางตายนึ่ง (กรีดแล้วไม่มีน้ำยาง) ให้กลับมากรีดได้อีก

มันสำปะหลัง ป้องกัน และรักษาโรคเชื้อราที่รากและหัวมันฯ ที่อยู่ในดิน และรักษาฟื้นฟูใบ ที่ถูกคุกคามด้วยโรคไวรัสใบด่าง ทั้งสองโรคทำให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยทั้งประเทศสูญหายไปกว่าครึ่ง

ลำไย ปรับคุณภาพดินให้มีความพร้อมกับการเจริญเติบโตของต้นลำไย สนับสนุนด้วยชีวภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มทั้งจำนวน ทั้งสัดส่วนของผลลำไยเกรดเอ

ข้าวโพด / ถั่วเหลือง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การให้ปุ๋ยที่เหมาะสม ผสมผสานระหว่างปุ๋ยอนินทรีย์ และอินทรีย์ การพัฒนาอุปกรณ์เก็บเกี่ยวที่เพิ่มความสะดวก และลดการสูญเสีย ฯลฯ

-ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การแปรรูป และการสกัดสารสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์สูง และมีมูลค่าสูง -ส่งเสริมการเลี้ยงโค จากปริมาณความต้องการจากต่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกปีละกว่า 1 ล้านตัว และประเทศในแถบตะวันออกกลางปีละประมาณ 3 ล้านตัว และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งปศุสัตว์อื่นได้แก่ แพะ แกะ ไก่งวง ฯลฯ และประมงน้ำจืดด้วย ซึ่งย่อมสร้างรายได้ต่อเนื่องไปยังเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นวงกว้าง

-ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต จนสามารถเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมเป็นการเกษตรก้าวหน้า

นโยบายประมง

-ยกเลิก พ.ร.ก. ที่เป็นผลพวงรัฐประหารทันที และบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับใหม่ที่ร่วมเขียนโดยชาวประมงตัวจริง เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียอาชีพ เสียรายได้ เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท

-เร่งเจรจาข้อตกลง IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing) ใหม่โดยตรงกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อแก้ไขและปรับปรุงข้อตกลง 

-ปลดล็อกประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน 

-ฟื้นฟูเศรษฐกิจประมงและทรัพยากรทางทะเล