- เพิ่มขีดความสามารถคนไทยเร็วขึ้น
- เผยยอดผู้ยื่นขอ LTR Visa แล้ว 2,920 คน ท็อป3ยุโรป สหรัฐฯ จีน
- บีโอไอส่งเสริมตั้ง Regional Headquarters กว่า 500 โครงการ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนไทยซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญต่อขีดความสามารถแข่งขันประเทศมาต่อเนื่อง โดยดำเนินการผ่านหลายด้านรวมถึงการดึงผู้มีศักยภาพสูงเข้ามาอาศัยทำธุรกิจและทำงานในประเทศไทยด้วยนโยบายการเป็นศูนย์การบุคลากรทักษะสูง (Talent Hub) ของภูมิภาค และการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค(Regional Headquarters) ในไทย ซึ่งผู้มีทักษะสูงและบริษัทระดับโลกจะถ่ายทอดความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ แก่คนไทยผ่านการทำงานร่วมกัน
“นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าการดึงผู้มีศักยภาพสูงโดยการให้ LTR Visa และการดึงบริษัทระดับโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่จะเป็นทางลัดที่จะพัฒนาคนไทยให้เก่งเร็วขึ้นผ่านการทำงานกับบุคคลหรือบริษัทที่มีนวัตกรรมและความสามารถการแข่งขันสูง ซึ่งด้วยนโยบายที่ชัด มีทีมงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งเดินสายเพื่อให้ข้อมูลนักลงทุน และผลจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคเมื่อปลายปี 65 ทำให้ทั่วโลกมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดสะท้อนไปที่ยอดของผู้มีทักษะสูงและบริษัทระดับโลกที่เข้ามายังประเทศไทยต่อเนื่อง”
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้รายงานถึงการดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีสำหรับนโยบาย Talent Hub ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย หรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ตั้งแต่ 1 พ.ย.65 -28 ก.พ. มีต่างชาติยื่นขอ LTR Visa รวม 2,920 คน
ทั้งนี้ แยกเป็น กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง 195 คน, กลุ่มผู้เกษียณอายุและมีความมั่งคั่งจากต่างประเทศ 1,011 คน, กลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 771 คน, ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ 390 คน และ ผู้ติดตามบุคคลกลุ่มต่างๆ ข้างต้น 553 คน และหากแยกตามกลุ่มประเทศพบว่าผู้ยื่นขอ LTR Visa สูงสุด 3 อันดับแรกคือ ยุโรป 940 คน สหรัฐอเมริกา 517 คน และจีน 325 คน
ส่วนการเข้ามาตั้ง Regional Headquarter สำนักงานบีโอไอได้ให้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนตั้งสำนักงานแล้วกว่า 500 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยบริษัท 5 สัญชาติแรกได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฮ่องกง และฝรั่งเศส โดยตัวอย่างของบริษัทที่เป็นที่รู้จักของทั่วโลกมีอย่างเช่น อโกดา, หัวเว่ย เทคโนโลยี่, อาร์เซลิก ฮิตาชิ, อายิโนะโมะโต๊ะ, นิสชิน ฟู้ดส์, อัลสตอม, โตโยต้า มอเตอร์, นิปปอนสตีล เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานหลักในการกำกับดูแลและให้บริการกับบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค