

นายกรัฐมนตรีนำ ครม.เข้าร่วมทดสอบเดินรถเสมือนจริงรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก่อนเปิดให้ประชาชนขึ้นใช้บริการฟรี ก่อนเก็บค่าโดยสารในปลายเดือน ธ.ค. ส่วนผู้โยสารรถไฟฟ้าสีเขียว ส่วนต่อขยายที่2เจอข่าวร้าย หลัง กทม.ประกาศจะเก็บค่าโดยสาร 15บาทหลังปีใหม่ จากที่เปิดให้ขึ้นฟรีมานาน ส่วนหนี้ที่ กทม.คงค้าง BTS ราว 20,000 ล้าน ขอเสนอ ครม.เคาะก่อนว่ายังเดินหน้าการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีขียวทั้งระบบตามม.44 หรือไม่
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 พ.ย.66)ภายหลังจากการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อม คณะรัฐมนตรี จะเข้าร่วมทดสอบเดินรถเสมือนจริง ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ช่วงเวลา 11.00-13.30 น.และหลังจากนั้นเวลา 15.00-20.00น.จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองขึ้นใช้บริการฟรี และในวันพรุ่งนี้ 22พ.ย.-3ธ.ค. กระทรวงคมนาคม โดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้รถไฟฟ้าสีชมพูฟรี ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์(เก็บค่าโดยสาร)ในกลางเดือน ธ.ค. ในราคา 20 บาทตลอดสายตามนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าสีชมพูฟรีตลอดสายแล้ว หากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสีชมพูมาและต้องการเปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตรงจุดตัดระหว่างสีชมพูกับสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีฯ ,จุดตัดสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ และจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการ นนทบุรี นั้น ประชาชนก็จะต้องจ่ายเงินเข้าระบบ 20 บาทตลอดสาย ยกเว้น จุดตัดสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีฯ ที่ไม่ต้องจ่าย เนื่องจากยังเปิดให้ฟรี แต่หาก สายสีเขียว ส่วนต่อขยายเก็บค่าบริการที่ 15 บาท ตามที่ กทม เสนอ ประชาชนก็ค่อยจ่าย


ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่2 สถานีหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ สถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ จากเดิมที่เปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีนั้นว่า ขณะนี้ทาง กทม.ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งว่า กทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ราคา 15 บาท/คน/ตลอดเส้นทาง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ต้นเดือน ม.ค.67หลังเทศกาลปีใหม่ 67 อย่างไรก็ตามยอมรับว่าแม้จะเก็บค่าโดยสารแล้วรายได้ก็ยังต่ำกว่าค่าจ้างที่ กทม.ต้องจ่ายให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTS) แต่ก็ยังดีกว่าไม่เก็บค่าโดยสาร
ส่วนการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากระหว่างกทม.และ BTS ยังคงมีสัญญาสัมปทานระหว่างกัน หากกลับมาเก็บที่ 20 บาท ทางภาครัฐบาลต้องเป็นผู้อุดหนุนให้เอกชนตามรายได้ที่ลดลงไป
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ส่วนต่อขยาย 2 (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 28 พ.ค.66 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.เคยระบุว่าจะชำระได้ก่อนภาระหนี้ก้อนอื่นๆ ว่า จากการพิจารณารายละเอียดพบว่า ภาระหนี้ดังกล่าวได้ถูกรวมไว้ในการเจรจาต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ดังนั้น กทม.จึงไม่สามารถแยกเฉพาะมูลหนี้ E&M ส่วนนี้มาดำเนินการก่อนได้
ดังนั้น กทม.ต้องนำส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งขณะนี้ได้นำส่งไปแล้ว เพื่อให้มท.พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสอบถามความชัดเจนว่า ครม.จะยังคงเดินหน้าพิจารณาเรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่ง ม.44 หรือไม่ หากไม่พิจารณาแล้ว กทม.ก็จะขอแยกภาระหนี้ E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ออกมาก่อน เพื่อเสนอสภากทม.ตามขั้นตอนว่าจะพิจารณาชำระหนี้หรือไม่ แบบไหน อย่างไร เพราะการทำสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 มิได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.ตั้งแต่แรก หากสภากทม.อนุมัติให้ชำระหนี้ ทางกทม.ก็จะใช้เงินสะสมจ่ายขาดที่ปัจจุบันมีสะสมอยู่ 50,000 ล้านบาทมาชำระหนี้

