

.สหรัฐฯสั่งซื้อแล้ว 1.7 ล้านคอร์สๆ ละ 2.3 หมื่นบาท
.ไทยขอซื้อ 2 แสนคอร์สคาดใช้งบถึง 4.6 พันล้านบาท
.ดันรายได้ “เมอร์ค” ผู้ผลิตพุ่งกว่า 2.4 แสนล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐฯ จะมีรายได้มหาศาลจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) หลังนานาประเทศเริ่มเจรจาขอซื้อ รวมถึงไทย
สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา และยังลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%
แม้ว่าขณะนี้ยาดังกล่าว ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่หลายประเทศทั่วโลก ได้เริ่มสั่งซื้อแล้ว ซึ่งรวมถึงไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย
ขณะที่สหรัฐฯได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว 1.7 ล้านคอร์ส หรือ 68 ล้านเม็ด วงเงิน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยคอร์สละ 700 เหรียญฯ หรือราว 23,000 บาท โดยมีราคาราวเม็ดละ 600 บาท
โดยยา 1 คอร์ส ประกอบด้วย ยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆ ละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
สำหรับไทยกำลังเจรจาสั่งซื้อเช่นกัน 200,000 คอร์ส คาดว่า จะได้รับยาในเดือนธ.ค.นี้ และหากเมอร์คคิดราคาเท่ากับที่สหรัฐฯซื้อ คาดว่ารัฐบาลไทยจะต้องใช้งบ 4,600 ล้านบาทเพื่อซื้อยาดังกล่าว
ทั้งนี้ เมอร์คได้เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว คาดว่าจะผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญฯ หรือราว 240,000 ล้านบาท
ถึงแม้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาแพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งรักษาโควิด-19 ในขณะนี้ ที่ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ถูกกว่าเมื่อเทียบกับยาของบริษัท Regeneron ที่ขายโดสละ 1,250 เหรียญฯ ขณะที่ยาของบริษัท GlaxoSmithKline โดสละ 2,100 เหรียญฯ
นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีความสะดวกต่อการรักษาโรคโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเองที่บ้าน เมื่อเทียบกับการรักษาในปัจจุบัน ที่ต้องฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย
เมอร์ค เผยว่า บริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อ FDA เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ หากได้รับการอนุมัติ ยาดังกล่าวจะเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ จากในปัจจุบัน ยังไม่ได้อนุมัติการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เช่นกัน แม้ว่าได้รับการรับรองจากบางประเทศแล้ว