ธ.ก.ส.เผย ลูกค้าธ.ก.ส.โดนผลกระทบภัยแล้ง 1.3 ล้านราย



  • รอปภ.ประเมินพื้นที่ภัยแล้งเพิ่มเติมเพื่อเร่งช่วยเหลือ
  • เบื้องต้นภาคอีสานได้รับผลกระทบหนักที่สุด
  • ยังเหลือเงินปล่อยสินเชื่ออีก 48,706 ล้านบาท

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธ.ก.ส.กำลังรอกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประเมินความเสียหายภัยแล้งรอบใหม่เพิ่มเติมอยู่ จากเบื้องต้นมีลูกค้าของธ.ก.ส.ที่ประสบปัญหาภัยแล้งจำนวน 1.3 ล้านราย แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (อีสาน) เช่น จังหวัดบึงกาฬ มหาสารคาม เป็นต้น จำนวน 1 ล้านราย และภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น จำนวน 300,000 ราย โดยคาดว่าเดือนก.พ.นี้ จะสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้วเสร็จ  

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาธ.ก.ส.ได้ออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของธ.ก.ส.ที่ประสบภัยแล้งจำนวน 55,000 ล้านบาท ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าธ.ก.ส.แล้วประมาณ  6,294 ล้านบาท และยังเหลือวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยแล้งทั้งรอบใหม่และรอบเก่าที่ยังไม่ได้ขอสินเชื่ออีกจำนวน 48,706 ล้านบาท 

สำหรับโครงการสินเชื่อของธ.ก.ส. ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย วงเงิน 50,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 50,000 บาท  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือ ค่าลงทุนในการผลิตทดแทนส่วนที่เสียหาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค หรือเพื่อการเกษตร ค่าจัดหาพันธุ์พืช การเตรียมดินในการผลิตรอบใหม่ เป็นต้น โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 6 เดือนแรก  

ส่วนโครงการที่สอง คือ โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงิน  5,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตที่สามารถลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง เช่น การลงทุนในระบบน้ำ การผลิตการเกษตรในรูปแบบที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 2 หรือเท่ากับ  4.875% ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี 

นอกจากนี้ ยังมีการขยายเวลาชำระคืนเงินต้นให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นเวลา 2 ปี จากงวดชําระเดิม ไม่จํากัดวงเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2562 – 31 ก.ค.2564 โดยจะพักชำระเฉพาะเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยยังคงผ่อนชำระเหมือนเดิม ส่วนกรณีเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรอบใหม่ ธ.ก.ส.จะขยายระยะเวลาในการคืนเงินต้นให้กับเกษตรกรด้วยเช่นกัน

“อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาลูกค้าของธ.ก.ส.มีการพักชำระเงินต้นกว่า 90% ทำให้ลูกค้าธ.ก.ส.มีปรับโครงสร้างหนี้ และมีระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4.55%”