

- ไตรมาสแรกปีนี้จดทะเบียนตั้งใหม่ 52 ราย
- เพิ่มทุน 19 ล้านบาทโต 8 เท่าจากไตรมาสแรกปี 63
- รับสังคมผู้สูงวัย-กฎหมายบังคับให้ขออนุญาตก่อน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจในเดือนมี.ค.64 พบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกรมให้การส่งเสริมในการสร้างมาตรฐานทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นธุรกิจที่น่าจับตา และยังสามารถขยายตัว สร้างรายได้ต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติที่รุนแรงในปัจจุบัน โดยช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 64 มีการจัดตั้งนิติบุคคลในธุรกิจนี้ 52 ราย เพิ่มขึ้น 79.31% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 63 ขณะที่ในช่วงปี 61-63) ธุรกิจดังกล่าว ตั้งใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยปี 62 มีจำนวน 113 ราย เพิ่มขึ้น 50% จากปี 61 ที่มีเพียง 76 ราย และปี 63 อยู่ที่ 117 ราย ใกล้เคียงกับปี 62
ทั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจุบัน มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว 493 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 1,615.93 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ขณะที่ไตรมาสแรกปี 64 ภาพรวมธุรกิจนี้ มีการเพิ่มทุน 19.40 ล้านบาท มากขึ้นถึง 8 เท่าจากไตรมาสแรกปี 63 ส่วนรายได้รวมของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 60 มีรายได้ 460.07 ล้านบาท ปี 61 มีรายได้ 772.23 ล้านบาท และปี 62 อยู่ที่ 1,008.56 ล้านบาท สำหรับผลกำไร เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 62 อยู่ที่ 11.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6 เท่าจากปี 61
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ มีอัตราการขยายตัวสูงมาก มาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น และยังเป็นผลมาจากการออกพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย จะต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ รวมถึงผู้ประกอบการรายเดิมที่เปิดกิจการอยู่แล้ว ก็ต้องยื่นขออนุญาตที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
“การที่มีผู้ประกอบธุรกิจมาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของธุรกิจเข้าสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจ และผู้มาใช้บริการให้เกิดความไว้วางใจ ซึ่งนอกจากจะดำเนินธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแล้ว ผู้ประกอบลการยังสามารถขยายโอกาสไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการผู้สูงอายุได้อีกด้วย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีโอกาสในธุรกิจกลุ่มนี้อีกมาก หากผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว”