“ธนารักษ์” เจรจากรมท่าอากาศยานให้ส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กรมดูแล



  • ค่าเช่าพื้นที่จะต้องถูกส่งกลับมาเป็นรายได้แผ่นดิน
  • ชี้หากหน่วยงานใดไม่ส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์
  • กรมมีอำนาจยกเลิกสัญญาการเช่าเอกชนได้

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์กำลังหารือร่วมกับกรมท่าอากาศยาน ซึ่งมีสนามบินที่อยู่ในความดูแลประมาณ 25 แห่ง เกี่ยวกับการนำที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน ที่ใช้พัฒนาเชิงพาณิชย์กลับมาให้กรมธนารักษ์ดูแลเช่นเดียวกันกับกรณีกองทัพบก ที่นำพื้นที่ราชพัสดุที่พัฒนาเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์มาให้กรมธนารักษ์ดูแล

“สำหรับพื้นที่ท่าอากาศยานนั้น ปัจจุบันกรมธนารักษ์ให้กรมท่าอากาศยานใช้ฟรี เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ แต่สำหรับพื้นที่ภายในที่มีการจัดสรรเป็นร้านค้าเชิงพาณิชย์ จะคืนกลับมาให้กรมธนารักษ์ดูแล โดยค่าเช่าพื้นที่จะต้องถูกนำส่งกลับมาเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ ยังมีส่วนราชการอีกหลายรายที่ได้แจ้งความจำนงให้กรมธนารักษ์เข้าไปดูแลพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น กรุงเทพมหานคร ได้ส่งรายการพื้นที่ที่เปิดให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์มาให้กรมธนารักษ์ดูแลแล้วประมาณ 5-6 พื้นที่”

ขณะที่กรมธนารักษ์และกองทัพบก หลังร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ให้กรมธนารักษ์เข้าบริหารจัดการที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ของกองทัพบกจำนวน 1 ล้านไร่ เมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ในวันพรุ่งนี้ 28 ก.พ.63 คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายจะร่วมหารือถึงรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ที่จะมีการส่งมอบให้กรมธนารักษ์ดูแล 

“เราต้องลงไปดูในรายละเอียดว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เชิงสวัสดิการเชิงพาณิชย์ที่กองทัพบกบริหารทั้ง 100% หรือ พื้นที่นำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้เอกชนเช่า เพื่อแยกให้เกิดความชัดเจน โดยจะต้องดูในรายละเอียดของงบของแต่ละพื้นที่ด้วย โดยกรมธนารักษ์จะให้ธนารักษ์พื้นที่ในแต่ละจังหวัดเข้าไปร่วมสำรวจเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วย  ซึ่งคาดว่าการพิจารณาเสร็จสิ้นภายในปีนี้” 

ส่วนการพิจารณาเรื่องรายได้นั้น กองทัพบกยืนยันว่า พื้นที่ที่นำมาพัฒนาเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์ โดยกองทัพบกเป็นผู้บริหารเอง 100% จะมีการจัดสรรรายได้ 2 ส่วน คือ  70% เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน และ 30% ถูกนำกลับไปเป็นสวัสดิการของกองทัพบก แต่กรณีที่เปิดให้เอกชนเช่า รายได้ทั้งหมดจะถูกส่งเข้าแผ่นดิน

“ยกตัวอย่าง กรณีพื้นที่ปั๊มน้ำมันที่กองทัพบกครอบครองอยู่จำนวน 100 แห่งนั้น กองทัพบกระบุว่า เป็นพื้นที่เชิงสวัสดิการ เนื่องจากในอนาคตอาจมีความจำเป็นทางการทหารที่ต้องใช้บริการปั๊มน้ำมันของตนเอง  ส่วนพื้นที่ภายในบริเวณปั๊มน้ำมันที่นำไปให้เช่าเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ หรือ ร้านกาแฟ กรณีนี้จะนับเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ต้องนำมาเช่าตรงและจ่ายค่าเช่ากับกรมธนารักษ์”

 สำหรับหน่วยงานใดไม่ให้ความร่วมมือในการส่งมอบพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ให้กรมธนารักษ์มีอำนาจที่จะบอกยกเลิกสัญญาการเช่ากับเอกชนได้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ ส่วนพื้นที่ใดที่มีการพัฒนาไม่เต็มศักยภาพกรมธนารักษ์จะเข้าไปร่วมพัฒนา และจัดเก็บอัตราค่าเช่าให้เป็นเชิงพาณิชย์ตามเกณฑ์ของกรมด้วย โดยปัจจุบันเกณฑ์การจัดเก็บค่าเช่าเชิงพาณิชย์จะอยู่ที่ 3% ของมูลค่าที่ดินต่อปี และ 1% ของมูลค่าที่ดินสำหรับค่าธรรมเนียมในการเช่าพื้นที่