ทั่วโลกแห่ใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ



  • อินเดียเก็บภาษีเอดีสินค้านำเข้าจากทั่วโลกมากสุด
  • ส่วนจีนถูกนานาชาติเก็บภาษีเอดีมากสุดกว่า 1 พันครั้ง
  • ขณะที่ไทยใช้มาตรการเอดี 60 ครั้งมากอันดับ 18

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) มีการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) และใช้มาตรการเอดี เพื่อปกป้องการค้า และผู้ประกอบการในประเทศไม่ให้ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการไต่สวนการทุ่มตลาด และการใช้มาตรการเอดี ของดับบลิวทีโอ ปี 38 – 63 พบว่า ในปี 63 มีการไต่สวน 349 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 38 และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังปี 63

สำหรับไทย เปิดไต่สวนแล้วรวม 97 ครั้ง มากเป็นอันดับ 17 ของสมาชิกดับบลิวทีโอ และอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และไทยใช้มาตรการเอดี โดยเรียกเก็บภาษีเอดีกับสินค้านำเข้า ที่ทุ่มตลาดในไทย (ตั้งราคาขายในไทยต่ำกว่าราคาขายในประเทศผู้ผลิต) แล้ว 60 ครั้ง อยู่อันดับ 18 ของดับบลิวทีโอ  และอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยประเทศที่ถูกไทยไต่สวน และเก็บภาษีเอดีสูงสุด ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน

นอกจากนี้ ไทยยังถูกประเทศอื่นๆ เปิดไต่สวน และเก็บภาษีเอดีกับสินค้าที่นำเข้าจากไทยด้วย โดยที่ผ่านมา ถูกไต่สวน 250 ครั้ง และถูกเก็บภาษีเอดี 167 ครั้ง มากเป็นอันดับ 6 ของดับบลิวทีโอ โดยอินเดีย เก็บภาษีเอดีจากไทยมากที่สุด 39 ครั้ง ตามด้วยสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนสินค้าที่ไทยถูกเก็บภาษีเอดีมากสุด เช่น เรซิน พลาสติกและยาง รวมถึงเหล็ก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ส่วนประเทศสมาชิกดับบลิวทีโอ ที่ถูกไต่สวน และถูกใช้มาตรการมากที่สุด คือ จีน ถูกไต่สวน 1,478 ครั้ง และถูกใช้มาตรการ 1,069 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนอินเดีย เป็นประเทศที่ใช้มาตรการมากที่สุดในดับบลิวทีโอ รวม 718 ครั้ง ตามด้วย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สินค้าที่ใช้มาตรการมากที่สุด คือ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เรซินพลาสติก และยาง

“การที่สินค้าส่งออกของไทยถูกใช้มาตรการเอดี จะทำให้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกไปประเทศนั้นๆ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวในเชิงรุก เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการถูกประเทศคู่ค้าเก็บอากรเอดี เช่น บันทึกต้นทุน และราคาสินค้า เพื่อใช้คำนวณมูลค่าปกติและราคาส่งออก ป้องกันไม่ให้มีการทุ่มตลาดในประเทศคู่ค้า, ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อตรวจสอบว่า ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือไม่, หลีกเลี่ยงการขายสินค้าส่งออกในราคาต่ำกว่าปกติ หรือการขายสินค้า ในประเทศที่ราคาแพงกว่าปกต, ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานไต่สวนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมีความถูกต้องและเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศผู้นำเข้า”

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า มาตรการเอดี เป็นมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ประเทศต่างๆ นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งประเทศผู้ส่งออกไม่สามารถยับยั้งการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดของประเทศผู้นำเข้าได้ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงไม่ให้สินค้าไทยเข้าไปทุ่มตลาดในประเทศคู่ค้าตั้งแต่แรกจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการปกปิดข้อมูลหรือไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานไต่สวนในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยถูกเก็บภาษีเอดีในอัตราสูงได้