ต้องไปเยือน… “บึงกาฬ” มนต์เสน่ห์ธรรมชาติคู่ศรัทธา ดันท่องเที่ยวติดลมบน SME D Bank ลุยหนุนเอสเอ็มอีท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งทุน



  • เพื่อเดินหน้าธุรกิจอย่างไม่สะดุด มุ่งสู่ความสำเร็จ
  • เติมโอกาสผู้ประกอบการคว้าโอกาสทางธุรกิจจากการเติบโตของการท่องเที่ยว
  • ชูวงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ระยะเวลาการผ่อนสูงสุด 15 ปี

วันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “จังหวัดบึงกาฬ” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่นักท่องเที่ยว-สายบุญหลายคนปักหมุดไว้เพื่อหาโอกาสไปเยือน เนื่องจากความเชื่อ แรงศรัทธา และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ได้สรรสร้างเอกลักษณ์ผสมผสานการท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬได้อย่างลงตัว 

สนับสนุนให้จังหวัดน้องใหม่แห่งนี้ มีศักยภาพพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเดินทางเข้ามาสัมผัส ก่อประโยชน์ต่อเนื่อง ช่วยกระจายรายได้ สร้างอาชีพสู่ชุมชน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ ยกระดับ เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ตอบสนองความต้องการและคว้าโอกาสทางธุรกิจจากการเติบโตของการท่องเที่ยว

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ  SME D Bank เปิดเผยว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ตั้งใหม่เมื่อปี 2554 นับเป็นลำดับที่ 77 ของประเทศ โดยแยกตัวมาจากจังหวัดหนองคาย มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงนิเวศ เช่น ถ้ำนาคา ถ้ำนาคี หินสามวาฬ บึงโขงหลง และภูทอก เป็นต้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ เกิดการลงทุน ขยายตัว หรือปรับปรุงกิจการ โดยเฉพาะโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว  

ทั้งนี้ SME D Bank พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านกระบวนการเติม “ความรู้คู่เงินทุน” ขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน พาเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และระยะเวลาการผ่อนที่นานสูงสุด 15 ปี ช่วยให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่บริการด้านการพัฒนาให้คำปรึกษาแนะนำตลอดเส้นทางธุรกิจ

ด้านนายจรูญ แสนพิมพ์ ผู้ประกอบธุรกิจที่พักรีสอร์ต “เฮือนเคียงบึง” จังหวัดบึงกาฬ เป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่คว้าโอกาสจากการเติบโตของการท่องเที่ยวภายในจังหวัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจว่า เดิมตนเองประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เมื่อเห็นที่ดินแห่งนี้ประมาณ 7 ไร่ มีความสวยงาม ทำเลที่ตั้งที่ดี จึงตัดสินใจลงทุนซื้อเก็บไว้ ยอมรับช่วงแรกไม่ได้คิดถึงการทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลย 

ต่อมาเมื่อ จ.บึงกาฬ ได้รับการประกาศเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ทำให้เห็นสัญญาณของการท่องเที่ยวที่เริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดนครพนมและจังหวัดบึงกาฬ ที่ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น จึงตัดสินใจลงทุนทำรีสอร์ต เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาพักผ่อน โดยยึดหลักว่า ต้องทำให้ดี ทำให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ให้กับนักท่องเที่ยว 

สำหรับจุดเด่นของ “เฮือนเคียงบึง” คือ การก่อสร้างสอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่เป็นอาคารสูง แต่เน้นการออกแบบรีสอร์ตคล้ายกับการอยู่บ้าน แต่ละห้องพักจะมีพื้นที่ห้องรับแขกเพิ่มเติม แยกกับห้องนอนชัดเจน แม้จะต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก แต่เลือกที่จะทำ เพื่อสร้างความแตกต่างกับที่พักอื่น ๆ

“ไฮไลต์ทำเลที่ตั้งของรีสอร์ตอยู่ใกล้ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ  ไม่ว่าจะเป็นตำหนักเจ้าปู่อือลือนาคราช หินสามวาฬ ถ้ำนาคา ถ้ำนาคี และติดบึงโขงหลง เป็นต้น อีกทั้ง มีบริการเรือท่องเที่ยว ทำให้เฮือนเคียงบึงมีความโดดเด่น แถมการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วใกล้สนามบินนครพนมแค่ 120 กิโลเมตรเท่านั้น” นายจรูญ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันเฮือนเคียงบึงมีห้องพัก 22 ห้อง  ด้วยความใส่ใจการออกแบบและการก่อสร้างที่มีคุณภาพ ส่งผลให้มีอัตรานักท่องเที่ยวเข้าพักเต็มทุกวัน ราคาที่พักเริ่มต้นคืนละ 700 – 2,500 บาท (ขึ้นอยู่กับขนาดของห้องพักและจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เข้าพัก) โดยลูกค้าหลักคือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยต่างถิ่นที่เดินทางมาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  

“ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว และการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ รวมถึงสภาพอากาศที่ดี ถือเป็นมนต์เสน่ห์ของจังหวัดบึงกาฬ สะท้อนถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา เรียกว่าดีวันดีคืน มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญแหล่งท่องเที่ยวของบึงกาฬยังมีอยู่อีกมาก เช่นน้ำตกถ้ำพระ น้ำตกเจ็ดสี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกื้อหนุนที่พัก สะท้อนจากยอดจองที่พักของเฮือนเคียงบึง มีการจองเข้าพักล่วงหน้าเต็มมากกว่า 2 เดือนต่อเนื่อง รวมถึงการบอกต่อของนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาใช้บริการ” นายจรูญ กล่าว 

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น  นายจรูญ ระบุว่า เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เตือนสติเมื่อจะทำอะไรก็ตาม ควรคำนึงถึงผลที่ตามมา หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การทำธุรกิจต้องวางแผนให้ดี มีความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่ต้องดูสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด  ที่พักของ “เฮือนเคียงบึง” จึงมีเพียง 22 ห้อง  สามารถบริหารจัดการได้ง่าย และยังเป็นห้องพักที่ราคาเป็นมิตรกับลูกค้า คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป 

นายจรูญ กล่าวด้วยว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นมากกว่าสถาบันการเงิน ด้วยบริการที่ใส่ใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ดำเนินงานอยู่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ตนรอดตายมาได้เพราะ SME D Bank เพราะช่วงเวลานั้นเงินจำนวน 2-3 ล้านบาท ก็ยังมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เดินหน้าธุรกิจไม่ได้ แต่ความช่วยเหลือของSME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์ ช่วยให้นำสัญญางานก่อสร้างที่มีอยู่ไปค้ำประกัน ทำให้มีเงินทุนมาหมุนเวียนสภาพคล่อง ช่วยธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นได้อีกครั้ง

อย่างไร็ตาม แผนธุรกิจในอนาคต จากการเติบโตของการท่องเที่ยวบึงกาฬ ทำให้มองเรื่องการยกระดับให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มเติมบริการกลุ่มหรือคณะจากหน่วยงานราชการ ที่มีความต้องการใช้สถานที่ประชุม สัมมนาโดยมีแผนที่จะลงทุนสร้างห้องประชุมและห้องอาหารไว้รองรับความต้องการ พร้อมเพิ่มเติมห้องพักรูปแบบวีไอพีเพิ่มเติม 7-8 ห้อง ซึ่งจะช่วยให้เฮือนเคียงบึง มีบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เดินหน้าสู่การเติบโตที่ยั่งยืน