ตรุษจีนปีนี้กร่อยเงินสะพัดแค่ 5.7 หมื่นล้านบาท



  • เผยเป็นยอดใช้จ่ายต่ำที่สุดในรอบ12ปี
  • เหตุคนกังวลเศรษฐกิจแย่ทำซื้อของน้อยลง
  • ห้างดิ้นจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมดึงลูกค้า

  นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 63 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,203 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.63 ว่า การใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้มีมูลค่า 57,639 ล้านบาท ลดลง 1.30% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 58,398.21 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับจากที่มีการสำรวจมา  เพราะประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่าย และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม2.5)  ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น วางแผนเดินทาง ท่องเที่ยวน้อยลง ทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนมากยังมีเงิน

 สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายดังกล่าว เป็นการซื้อของเซ่นไหว้ 3,392 บาท, ให้แต๊ะเอีย 3,457 บาท, ทำบุญ 1,449 บาท, ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 2,058 บาท, ไปเดินห้าง 2,265 บาท, สังสรรค์จัดเลี้ยง 3,396 บาท, ซื้อกระเช้า 1,068 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ราคาสินค้าในช่วงตรุษจีนปีนี้เทียบกับปี 62 เป็นอย่างไร ผู้ตอบ 52.5% บอกไม่เปลี่ยนแปลง แต่ 47.7% ตอบเพิ่มขึ้น และ 0.1% ตอบลดลง ดังนั้น ส่วนใหญ่ จึงใช้จ่ายลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง ลดค่าใช้จ่าย รายได้ลดลง การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ และราคาสินค้าถูกลง

 “บรรยากาศการไหว้เจ้า การทำบุญและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็ถือว่ายังมีความคึกคักเช่นเดิม และประเมินแล้วหลายพื้นที่อาจคึกคักมากกว่าเดิม แต่ในภาพรวมพบว่า แม้คนจะไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก แต่ก็ลดปริมาณซื้อลงจากเดิม เช่น เคยซื้อของ 10 ชิ้น ก็จะเหลือ 8 ชิ้น  หรือบางคนไปร่วมกิจกรรมแต่แทบจะไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากนักทั้งๆ ที่มีเงิน”

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน 600 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบ 44.5% บอกว่า บรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ คึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาห้างร้านต่างๆ จำเป็นต้องจัดทำโปรโมชันลด แลก แจก แถมเพื่อจูงใจให้คนหันมาซื้อสินค้า ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่า ในปีนี้ท่านเป็นผู้ให้หรือเป็นผู้รับแต๊ะเอีย ผู้ตอบ 74.8% ตอบเป็นผู้ให้ และอีก 25.2% เป็นผู้รับ โดยกรณีที่เป็นผู้ให้ มากถึง 45.2% ตอบจะให้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 62 เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนอีก 50.7% ตอบไม่เปลี่ยนแปลง และ 4.1% ให้เพิ่มขึ้น สำหรับกรณีเป็นผู้รับนั้น มากถึง 70.9% บอกคิดดว่าปีนี้ยังได้รับแต๊ะเอีย และได้เท่ากับปี 62  แต่อีก 29.1% ตอบไม่ได้รับ