- “พุทธิพงษ์”เดินสายหาแนวร่วมสกัดข่าวปลอม
- ปรับวิธิคิดหาแนวทางทำงานร่วมกัน
- ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยระหว่างการพบปะหารือกับผู้บริหารกูเกิล ณ ซิลิคอน วัลเล่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการปรับความเข้าใจถึงวิธีการทำงาน เพื่อให้กระทรวงดีอีเอส และกูเกิล ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงการสร้างแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยประเด็นที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาช่วยดำเนินการต่างๆ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโยี
สำหรับการนำเทคโนโลยีเอไอ มาช่วยในการทำงานนั้น กูเกิล ได้นำมาใช้งานอยู่แล้วจากการค้นหาของประชาชนทั่้วโลก และเก็บข้อมูลไว้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ เนื่องจากความต้องการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้หยิบยกประเด็นการนำเอไอ มาช่วยจัดการข้อมูลปลอมเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคโนโลยีเอไออส จะช่วยแยกแยะคลิปปลอมต่างๆ จึงได้ขอความร่วมมือกับกูเกิล ช่วยดูแลและนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกจากกูเกิล รวมถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนแผนที่ของกูเกิล( Google Map) ด้วย
ส่วนการลบ ข่าวปลอมและคลิปไม่เหมาะสม บนยูทูปนั้น แม้กระทรวงดีอีเอส ไม่สามารถบังคับให้ยูทูป ลบได้ แต่ก็ได้แจ้งให้ยูทูปรับทราบมาตลอด รวมถึงพูดคุยหารือ เพื่อหาแนวทางดำเนินการลบคลิปและข้อมูลไม่เหมาะสมมาตลอดเช่นกัน ซึ่งขณะนี้จำนวนข่าวปลอม ข้อมูลไม่เหมาะสมบนยูทูป ลดลงแล้ว และหลังจากการหารือกับกูเกิลครั้งนี้ กูเกิล มีความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น หวังว่าจะให้ความร่วมมือกับประเทศไทย ในการหยุดการกระจายข่าวปลอมและคลิปไม่เหมาะสม รวมถึงร่วมมือกันพัฒนาทักษะของคนไทย และการผลิตเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อพัฒนาความร่วมมือกันต่อไป
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังหารือการนำเอไอ มาช่วยในระบบสาธารณสุข เมื่อเอไอ มีข้อมูลมากๆ ก็จะสามารถวิเคราะห์และพัฒนาตอบโจทย์ผู้บริโภค ได้อย่างแม่นย่ำเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เชื่อว่าหากมีการดำเนินการสำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และคนไทยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังจะนำมาใช้กับการเกษตรของไทย โดยกูเกิล มีภาพถ่ายการเกษตร จำนวนมาก หากนำเอไอมาใช้ ช่วยวิเคราะห์สภาพพืช อากาศ ก็จะทำให้คาดการณ์หรือรู้ว่า ขณะนี้พืชเป็นโรคใด และจะรักษาอย่างไร ซึ่งจะทำให้เกษตรกร สามารถป้องกันพืชผลของตัวเองได้ ไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อไม่เสียหาย เกษตรกร ก็มีพืชผล ไปขาย สร้างรายได้ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชน ในเบื้องต้นจะมีการพัฒนาแอปพิลเคชั่น เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านมือถือ เพราะประชาชนทุกคนสามารถหาข้อมูลด้วยตัวเอง