ดาวโจนส์แกว่งตัวแคบๆ เพิ่มขึ้นกว่า 30 จุด กังวลดอกเบี้ย-เก็งกำไรผลประกอบการ



  • นักลงทุนเก็งกำไรผลประกอบการในไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น ทำต้นทุนบริษัทขึ้น กำไรลด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

เมื่อเวลาประมาณ 22.20 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,481.92 จุด เพิ่มชึ้น
30.69 จุด หรือ +0.09% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,329.29 จุด ลดลง 21.79 จุด -0.16% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,394.52 จุด เพิ่มขึ้น 1.93 จุด หรือ +0.04%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แกว่งตัวเแคบ โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งซื้อหุ้นสะสมเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ตลาดหุ้นแนสแด็ก ปรับลดลงเล็กน้อย จากความกังวลอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทราว 7.5% ในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกแล้ว ซึ่งมากกว่า 80% ในจำนวนดังกล่าวมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยวันนี้ ราคาหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา พุ่งขึ้นกว่า 1% หลังเปิดเผยว่า ทางธนาคารมีกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาสแรก

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนจับตารายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (เฟด) ที่จะมีการเปิดเผยในวันพุธนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือนพ.ค.และมิ.ย. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 77 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

การร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สต็อกบ้านในระดับต่ำ การพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง, ราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง