

.ดัชนีแนสสแด็กปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี สหรัฐออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน
.มีแรงซื้อหุ้นกลับบางส่วน แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงขายหุ้นออกมากังวลเฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง
.ไอเอ็มเอฟมองสงครามขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 10 ต.ค.ที่ 29,202.88 จุด ลดลง 93.91 จุด หรือ -0.32%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,612.39 จุด ลดลง 27.27 จุด หรือ -0.75% ส่วนดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิสปิดที่ 10,542.10 จุด ลดลง 110.30 จุด หรือ -1.04%
นักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย โดยล่าสุดนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และสงครามในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
ทางด้านนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม และหากเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงตามเป้าหมาย ธนาคารกลางก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปร่วงลงอย่างหนัก โดยดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia SE Semiconductor Index) ร่วงลง 3.5% หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน เพื่อจำกัดขีดความสามารถของจีนในการเข้าถึงชิประดับไฮเอนด์ซึ่งจีนอาจใช้ในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ล้ำสมัย
หุ้นอินวิเดีย ร่วงลง 3.36% หุ้นควอลคอมม์ ดิ่งลง 5.22% หุ้นไมครอน เทคโนโลยี ร่วงลง 2.89% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวเซส (เอเอ็มดี) ร่วงลง 1.08% หุ้นอินเทล ร่วงลง 2.02% หุ้นไมโครซอฟท์ หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.13%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมัน WTI โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 2.17% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 2.83% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ลดลง 1.44% หุ้นเชฟรอน ปรับตัวลง 1.81%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค.