

- ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไปเดือน ส.ค.ปรับขึ้น 3.5% สอดคล้องกับนักวิเคราะห์คาด
- นักลงทุนกลับมาช้อนซื้อหุ้น หลังคลายกังวลเงินเฟ้อพุ่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลด
- นักลงทุนจับตาความคืบหน้าสภาคองเกรสในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว หยุดการซัตดาวน์หน่วยงานรัฐ
เมื่อเวลาประมาณ 22.15 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,706.98 จุด เพิ่มขึ้น 40.64 จุด หรือ 0.12% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ 4,320.25 จุด เพิ่มขึ้น 20.55 จุด หรือ 0.48% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส อยู่ที่ 13,321.72 จุด เพิ่มขึ้น 120.44 จุด หรือ 0.91%
นักลงทุนซื้อหุ้นสะสม หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.4% ในเดือนก.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 4.3% ในเดือนก.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค.ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยด้วยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนก.ค. นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าของสภาคองเกรสในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 30 ก.ย. ก็จะทำให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค.
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 68.1 ในเดือนก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.7 จากระดับ 69.5 ในเดือนส.ค. โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการผละงานประท้วงในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ รวมทั้งความวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค. หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวภายในวันที่ 30 ก.ย.
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จากระดับ 3.5% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว