ชวน “อีลอน มัสก์”ถือเงินดิจิทัลมาเที่ยวเมืองไทย



  • ททท.นำร่องเจาะนักลงทุนคริปโคเคอร์เรนซีญี่ปุ่น
  • อายุน้อย กำลังร่ำรวย มีกำลังซื้อสูง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม ททท.จะเน้นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ จึงได้หารือกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อเตรียมดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี เช่น  บิตคอยน์ อีเธอร์เลียม เข้ามาเที่ยวเมืองไทย เพราะขณะนี้การใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ในญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมาก  ประชากรญี่ปุ่นถือคริปโตเคอร์เรนซี่อันดับ 1 ของโลก มีอัตราส่วนของคนที่ถือคริปโตเคอร์เรนซี่ต่อประชากรในอัตรา 11% ของประชากร เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีอัตราเพียง 7% ของประชากร  คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง หากได้มากเที่ยวประเทศไทยก็จะมีการใช้จ่ายสูง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ประเทศไทยต้องการ

“ขณะนี้มีร้านอาหาร โรงแรม ในญี่ปุ่นจำนวนมากที่เข้าร่วมใช้จ่ายโดยใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ซื้อสินค้า เช่น ร้านขายราเม็งในญี่ปุ่นร้านหนึ่งรับแต่คริปโตเคอร์เรนซี่ พอตอนนี้ค่าเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เมื่อแลกเป็นค่าเงินเยนของญี่ปุ่นร้านนี้จึงมีกำไรจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยหากสามารถเปิดรับคริปโตเคอร์เรนซี่ จะถือว่าเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ในการเข้าพักโรงแรม กินและเที่ยวได้ มหาเศรษฐีที่มีชื่อเสียงอย่าง อีลอน มัสก์ อาจมองมาที่เมืองไทย อาจอยากเข้ามาเที่ยว หลังการระบาดของโควิด-19 มีความชัดเจน ว่า ไทยสามารถควบคุมได้”

สำหรับความคืบหน้าของการใช้เงินบาทดิจิทัล ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้วางแผนไว้ 3 เฟส คือ เฟสแรกเปิดโครงการอินทนนท์ ซึ่งถือเป็นคริปโตเคอเรนซี่ของไทย ที่ใช้ระหว่างธนาคารกับธนาคารในประเทศ และเฟสที่สอง ขยายไปใช้กับธนาคารระหว่างประเทศ ส่วนเฟสสามเป็นนิติบุคคลกับนิติบุลคล อยู่ระหว่างทดลอง ส่วนเฟสที่สี่เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้ ซึ่งยังไม่เริ่ม

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ ตามแนวคิดล้มแล้วลุกไว ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ททท.จึงมุ่งเน้นจับปลาใหญ่ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มที่ถือคริปโตเคอร์เรนชี่ จึงเป็นเป้าหมายที่ ททท.จะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ และหารือกับผู้ประกอบการ  โรงแรม ร้านอาหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย  เพื่อร่วมหารือความเป็นไปได้ว่า หากกลุ่มที่ถือคริปโตเคอร์เรนชี่ เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย จะมีกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไหนบ้านที่จะร่วมธุรกิจ และรับคริปโตเคอร์เรนชี่ที่กำลังอัตราการเติบโตสูง

นอกจากนี้  จากการหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย  ททท.ได้ตัดสินใจปรับเป้าจำนวนและรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 มาอยู่ที่ 8 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 428,000 ล้านบาท ลดลงจากก่อนหน้านี้ซึ่งเคยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 500,000 ล้านบาท แต่เพื่อคงเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปีนี้ที่ 1.24 ล้านล้านบาท ททท.จึงได้ปรับเพิ่มเป้าจำนวนและรายได้ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศเป็น 150 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 816,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมซึ่งเคยตั้งไว้ที่ 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 700,000 ล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2565 ยังคงเป้าเดิมที่ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% ของรายได้รวมเมื่อปี 2562 โดยแบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 20.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดในประเทศ ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ด้านนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและอเมริกา ททท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานโซล ร่วมส่งนักกอล์ฟชาวเกาหลีใต้ ที่สนามบินนานาชาติอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็น Golf Quarantine กลุ่มแรกจากเกาหลีใต้ เดินทางมาเล่นกอล์ฟและท่องเที่ยวระยะยาวยังประเทศไทย จำนวน 41 ราย โดยสายการบินโคเรียน แอร์  เที่ยวบินที่ KE653 19.05 น. มาถึงประเทศไทยเวลา 23.20 น. โดยนักกอล์ฟกลุ่มนี้จะกักตัวที่อาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ต เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย เชื่อว่าเมื่อมีกลุ่มแรกเข้ามาแล้วจะเป็นจุดดึงดูดให้มีนักกอล์ฟกลุ่มอื่นๆจากหลายประเทศตามมาอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีสนามกอล์ฟที่เข้าร่วมโครงการกอล์ฟ ควอรันทีน 6 แห่ง และจะมีการขยายเพิ่มขึ้นด้วย