จัดชุดใหญ่… กลุ่ม ปตท. เตรียมงบ 5 ปีกว่า 8.6 แสนล้าน ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย พร้อมดันอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย “New S-Curve”



  • ลงทุนในพลังงานอนาคต ทั้งพลังงานทดแทน-ระบบการกักเก็บพลังงาน-ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
  • ลุยลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน อาทิธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ยา อาหาร โภชนาการ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 64 มีกำไรสุทธิกว่า 8 หมื่นล้านบาท
  • พร้อมขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต นำไทยสู่สังคม คาร์บอนต่ำ

วันนี้ (12 พ.ย.64) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยความพร้อมสนับสนุนนโยบายเปิดประเทศว่า กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมแผนลงทุน 5 ปี รวม 865,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future energy and Beyond  ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคต ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S-Curve) ประกอบด้วยการลงทุนในพลังงานอนาคต (Future Energy) อาทิ  พลังงานทดแทน ระบบการกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าศึกษาการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน และลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน(Beyond) อาทิ  ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ยาอาหารและโภชนาการ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์) ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

รวมถึงปรับธุรกิจน้ำมันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force : GNTF) เพื่อวางกรอบเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน  

ทั้งนี้ด้านผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 23,653 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ 24,578 ล้านบาท ตามกำไรจากการดำเนินงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย โดยสาเหตุหลักจากธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงธุรกิจน้ำมัน เนื่องจากปริมาณขายที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นและต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ 

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อยใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีกำไรสุทธิ จำนวน 80,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 24,619 ล้านบาท โดยปรับตัวดีขึ้นจากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากปีก่อน ประกอบกับ ปตท. สามารถบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operation) อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ดำเนินได้อย่างไม่ติดขัดแม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า-ส่งออก ในขณะที่อุตสาหกรรมลักษณะเดียวกันในต่างประเทศบางแห่งต้องปิดตัวลง

ในส่วนของผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อยมาจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่ม ปตท. โดยกำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อยใน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีสัดส่วนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 33% เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ผันผวน ดำเนินการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 23% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 22% จากการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม และบริษัทย่อยอื่นๆ 13% สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีสัดส่วนเพียง 9% ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน และช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนโดยชะลอราคาขายปลีกน้ำมันถึงแม้ว่าต้นทุนราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น

“กลุ่ม ปตท.สามารถนำส่งเงินเข้ารัฐ สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2564 ทั้งในรูปแบบเงินปันผลและภาษีเงินได้ รวม 55,924 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ปี 2544 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2564 กลุ่ม ปตท. นำเงินส่งรัฐรวม 1.05 ล้านล้านบาท” นายอรรถพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า มุ่งดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 จัดตั้งโครงการ Restart Thailand เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างทักษะอาชีพ ผ่านการจ้างนักศึกษาจบใหม่ บัณฑิตว่างงานระดับ ปวช.- ปริญญาตรีในทุกภูมิภาค จำนวนกว่า 25,000 อัตรา 

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กลุ่ม ปตท. ได้นำทีมพนักงานจิตอาสา “PTT Group SEALs” ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ  มอบถุงยังชีพกว่า 15,000 ถุง พร้อมอุปกรณ์จำเป็น ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนเดินหน้าแบ่งเบาภาระภาครัฐในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 และจัดตั้งหน่วยคัดกรองโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามครบวงจร ในโครงการลมหายใจเดียวกัน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท พร้อมเปิดสายด่วน 1745 “End-To-End Mobile@1745” มีพนักงานจิตอาสาจะคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และส่งรถพยาบาลไปรับถึงที่พัก เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดประเทศให้เราผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน