

- หลัง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล้มเหลวแก้ปัญหา
- ผู้นำรัฐบาลไม่เอาจริงจังจัดการปัญหาทุจริต
- คนไทยย้ำไม่เลือกพรรค/นักการเมืองซื้อเสียง
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ที่สำรวจจากประชาชน 2,255 ตัวอย่างทั่วประเทศว่า ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 ของประเทศ ที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขมากที่สุดตามด้วยปัญหาการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคอร์รัปชัน ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากการสำรวจการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 62 ที่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 และคอร์รัปชันเป็นอันดับ 3 โดยคอร์รัปชัน ที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ ทุจริตในระบบราชการ, ทุจริตในกระบวนการยุติธรรม, เงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา, การศึกษา, สิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ,การดูแลผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กด้อยโอกาส, ระบบขนส่งมวลชนและโครงสร้างสาธารณูปโภค, ภาคเกษตร, กระบวนการนำเข้าส่งออก
“ประชาชนยังมองถึงบทบาท และหน้าที่ของภาคการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมืองว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ และจริยธรรมในการทำงาน มีควาชัดเจนในการต่อต้านทุจริต มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เอื้อประโยชน์กับพวกพ้อง ไม่รับสินบน สินน้ำใจ ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมรวมถึงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ไม่ใช่อำนาจในทางที่ผิด ไม่แทรกแซงการทำงานของภาคส่วนต่างๆ”


คนไทยลั่นไม่เลือกพรรค/นักการเมืองซื้อเสียง
นางเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า 95% ยังบอกว่า นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมือง/นักการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งในระดับปานกลางถึงมาก มีเพียง 5% ที่บอก มีผลน้อยถึงไม่มีผลเลย อีกทั้ง 82.4% ยังเห็นด้วยที่พรรคการเมือง ควรเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยต้องมีความชัดเจน ปฏิบัติได้จริง เพราะปัญหานี้เรื้อรังมานาน ขณะที่อีก 17.6% ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจ และไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน จะเลือกหรือไม่ 83.6% ตอบไม่เลือกเพราะไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก ส่วนอีก 16.4% เลือก เพราะยังไงก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย และหากนักการเมืองใช้เงินซื้อเสียง จะเลือกหรือไม่ 86.2% ตอบไม่เลือก เพราะทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น ผิดกฎหมายส่วนอีก 13.8% เลือกเพราะแค่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศก็พอ ทุกพรรคก็ทำเหมือนกัน ถือเป็นการกระจายเงินถึงประชาชน จ่ายหรือไม่จ่ายก็เลือก เพราะเป็นคนและพรรคที่ชอบ
“คนส่วนใหญ่ ไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และไม่เลือกคนซื้อเสียง ไม่ว่าจะจ่ายเงินเท่าไรก็ตาม ไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว”


5 ปีที่ผ่านมาไทยล้มเหลวแก้ปัญหาทุจริต
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลโพลชี้ชัดว่า ประชาชน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้มีการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน อยากได้นักการเมืองซื่อสัตย์ ถ้าไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจะไม่เลือก ซึ่งมองว่า นักการเมือง เป็นกลุ่มคนที่ทุจริตมากที่สุด เพราะอยู่ในฝ่ายบริหาร เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ แต่งตั้งโยกย้าย รับสินบน เอื้อประโยชน์พวกพ้อง โครงการใหญ่ๆ ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ทั้งหมดอยู่ภายใต้นักการเมือง ที่เป็นฝ่ายบริหาร การทุจริตของไทย ไม่ได้อยู่เฉพาะในระบบราชการเท่านั้น
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทุจริตยังมีกว้างขวาง การแก้ปัญหายังไม่ดีขึ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการแก้ปัญหามากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ทานทนกับการทุจริต และอยากเห็นการต่อต้านการทุจริต”
นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยต้องการแนวทางแก้ปัญหาทุจริตที่จับต้องได้ การเลือกตั้งปี 62 พรรคการเมือง 3 พรรคนำเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน นอกนั้นไม่นำเสนอแต่เป็นการนำเสนอที่พูดลอยๆ เช่น ยึดมั่นในอุดมการณ์ ทำอย่างโปร่งใส บริหารประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาทุจริตของไทยล้มเหลว ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ ล่าสุด เห็นมี 3 พรรค ที่นำเสนอนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน


“ช่วงรัฐบาลนี้ การทุจริตมีมากมาย เพราะผู้นำรัฐบาล และผู้นำหน่วยงานต่างๆ เพียงแค่บอกว่า มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ส่วนการทำข้อตกลงคุณธรรมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการต่างๆ ก็ไม่ได้การันตีว่า จะช่วยให้ปัญหา หรือการจ่ายเงินใต้โต๊ะหมดไป เพียงแค่ช่วยทำให้การใช้เงินงบประมาณโครงการต่างๆ คุ้มค่า และในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาข้อตกลงคุณธรรม ช่วยทำให้เงินงบประมาณในโครงการต่างๆ ไม่รั่วไหลได้มากถึง90,000 ล้านบาท”
พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของไทย เพราะขณะนี้ ไทยกำลังทะยานจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศพัฒนา ที่ผ่านมา ไทยเสียความสามารถด้านการแข่งขัน กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่รัฐต้องมีภาระค่าใช้จ่ายกับคนกลุ่มนี้อย่างมาก แต่แรงงานวัยทำงานลดลง อัตราการเกิดลดลง ความโดเด่นด้านกำลังซื้อ ที่จะเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ลดลง แล้วยิ่งมีการทุจริต จะยิ่งดึงเงินที่น้อยอยู่แล้วในระบบให้น้อยลงไปอีก
“ไทยกำลังต้องการเม็ดเงินจากลงทุนด้านต่างๆ จากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องทำกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน หรือการมาพักอาศัยของชาวต่างชาติในระยะยาว ถ้ากฎระเบียบไม่เอื้ออำนวย จะนำไปสู่การคอร์รัปชันนอกจากนี้ คนไทยยังต้องการให้พรรคการเมือง วางรากฐานแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบัน ไม่ว่าใคร ถ้ามีเงินแล้วทำผิด จะหลุดจากคดี พรรคการเมืองต้องทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

