

- ชี้มีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากเม็ดเงินพ.ร.ก.กู้เงิน
- ส่งออกไทยที่คาดว่าจะขยายตัวขึ้น 11%
- เร่งสรุปออกมาตรการเยียวยาโควิดเดือนพ.ค.นี้
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 1.8-2.8% ปรับตัวลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนม.ค.64 ที่ 2.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ สศค.จึงปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศลดลงเหลือ 2 ล้านคน จากเดิมคาดการณ์ไว้ 5 ล้านคน
“เราปรับสมมติฐานประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 2 ล้านคน เพราะนอกจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่แพร่บาด ยังมีข้อกำกัดเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เปิดเฉพาะบางพื้นที่นำร่อง โดยจากส่วนนี้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 170,000 ล้านบาท จากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ 260,000 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้เป็นอย่างมาก”
อย่างไรก็ตามส่วนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจ เป็นเม็ดเงินจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุด 22 เม.ย.64 อนุมัติวงเงินไปแล้ว 760,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 85.4% ของวงเงินอนุมัติ ซึ่งยังมีวงเงินเหลืออยู่ 237,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ ได้มีการปรับประมาณการใช้จ่ายวงเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการที่จะนำเงินลงระบบเศรษฐกิจ ภายหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ โดยจะเร่งสรุปมาตรการภายในเดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะเบิกจ่ายเม็ดเงินจากส่วนดังกล่าวได้ 950,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2563 เบิกจ่ายแล้ว 347,000 ล้านบาท ปีนี้ให้เบิกจ่ายเพิ่มขึ้น 628,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 50,000 ล้านบาท เก็บไว้เหลือสำหรับการเบิกจ่ายในปีหน้า ดังนั้น ในรอบนี้จึงมีการปรับให้มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 กลับมาขยายตัวได้
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 11% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ 10.5-11.5%
นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.8% ขณะที่การบริโภคภาครัฐ 5% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 10.1%
“มาตรการที่ออกมาในระยะต่อไปจะเน้นให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม นอกจากคนละครึ่ง เฟส 3 ที่คาดว่าจะมีการดำเนินต่อแล้วยังมีมาตรการที่จะดึงเงินจากผู้มีกำลังซื้อสูงในประเทศด้วย เพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่จะออกมาเมื่อไหร่นั้นจะต้องดูจังหวะที่เหมาะสมก่อนเพราะขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิดยังรุนแรง ”
