

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าหุ้นใดมีความเหมาะสมที่จะขาย และไม่มีความจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องถือหุ้นต่อไป ถือเป็นการบริหารหุ้นให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงต้องพิจารณาความจำเป็นการใช้ของเงินภาครัฐด้วย
“การจะขายหุ้นต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และความจำเป็นในการใช้เงิน รวมทั้งนโยบายของรมว.คลัง ในขณะนั้น เช่น การขายหุ้นบางจาก เพื่อไปซื้อหุ้น OR ตามสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ปตท. ก็ถือเป็นการบริหารจัดการให้เกิดผลกำไรในหุ้น ส่วนการจะต้องลดสัดส่วน หรือเพิ่มทุนในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ต้องพิจารณาตามแผนฟื้นฟูของการบินไทยก่อน ว่าเหมาะสมที่จะเพิ่มทุนหรือเติมเงินในจำนวนเท่าใด ถ้าซื้อหุ้นได้กำไร กระทรวงการคลัง ก็ไม่โดนด่า แต่ถ้าซื้อหุ้นแล้ว หุ้นร่วง ไม่ได้กำไร แล้วขายกระทรวงการคลังก็โดนด่า ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างละเอียดและเหมาะสม โดยยืดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก”
นางปานทิพย์ กล่าวว่า การบริหารหุ้นของกระทรวงการคลังนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการเมื่อปี 2559 เรื่องการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐ ใน 3 กลุ่มหลักทรัพย์ ได้แก่ 1.หลักทรัพย์ที่ได้มาจากการยึด 2.หลักทรัพย์ที่ได้รับโอนมาจากส่วนราชการอื่น เนื่องจากหมดความจำเป็นตามนโยบายของภาครัฐ และ 3.หลักทรัพย์ที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องถือครอง โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา วิธีการ ราคา และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละตัว โดยหลักการคือการขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา ซึ่งปัจจุบันมีหลักทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขใน 3 กลุ่ม ประมาณ 20 หลักทรัพย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสถานะหุ้นของกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 9 มี.ค. 2563 กระทรวงการคลังถือครองหุ้นรวม 119 แห่ง มูลค่ารวม 2,035,891.42 ล้านบาท แบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 22 แห่ง โดยเป็นรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง มูลค่า 1,360,572.35 ล้านบาท เป็นบริษัทเอกชน 14 แห่งและเอกสารแสดงสิทธิ์ 2 หลักทรัพย์ มูลค่า 21,412.40 ล้านบาท
สำหรับหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 57 แห่ง เป็นรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง มูลค่า 311,563.20 ล้านบาท เป็นบริษัทเอกชน 43 แห่ง มูลค่า 5,043 ล้านบาท และบริษัทที่มีสถานะพิเศษ 35 แห่ง กองทุนรวม 5 แห่ง แบ่งเป็น กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง 1 แห่ง มูลค่า 331,457.30 ล้านบาท หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ (TFFIF) 1 แห่ง มูลค่า 5,840 ล้านบาท และหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ 3 แห่ง มูลค่า 39.44 ล้านบาท