- เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
- หากไม่มีการเบิกจ่ายภายในไตรมาส 2
- งบประมาณก็จะถูกพับไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า แผนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2566 กระทรวงการคลังจะเข้มงวดในการกระจายเม็ดเงินการเบิกจ่ายงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจทั้ง 4 ไตรมาส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไปเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งหากเบิกจ่ายไม่ทันก็จะต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ซึ่งก็เป็นการขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายออกไปอีก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีโครงการที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีไม่ทัน และโดยพับโครงการไปเฉลี่ยกว่าหลักหมื่นล้านบาทต่อปี
“ทุกปีก็มีการกันเงินเอาไว้เบิกเหลื่อมปีเพราะเบิกจ่ายงบไม่ทัน แล้วก็ไปเบิกจ่ายเงินในปีงบประมาณหน้า ซึ่งเราพยายามจะลดส่วนนี้ลง เพราะมีกรณีที่หน่วยงานกันเงินเอาไว้เบิกเหลื่อมปีไม่ทัน เงินก็ตกเข้าคลังไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะงบประมาณอนุมัติวงเงินให้ไปแล้ว แต่ทำไม่ทัน ก็ทำให้เสียโอกาสสำหรับหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อม เราจึงกำชับหน่วยงานให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ต้องกันเงินให้ทัน หากทำไม่ทันจะไม่สามารถกลับมาอุทธรณ์ได้ ต้องดูแลและรับผิดชอบเรื่องนี้”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เข้มงวดโครงการที่ค้างมาจากการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีมากขึ้น โดยหากไม่มีการเบิกจ่ายภายในไตรมาส 2 ของปี 2566 หรือช่วงเดือนมี.ค.66 งบประมาณก็จะถูกพับไป จากที่ผ่านมา ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว หน่วยงานสามารถกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้ตลอด โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเบิกจ่าย ซึ่งมีผลต่อการสนับสนุนเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ได้มีการอำนวยความสะดวกให้กระบวนการเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมรายละเอียดโครงการ เพื่อเดินหน้าทำสัญญา หากงบประมาณปี 2566 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา และเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 แล้ว หน่วยงานก็สามารถลงนามสัญญาเดินหน้าโครงการได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่โครงการที่เตรียมความพร้อมได้เร็วจะเป็นโครงการขนาดเล็ก เช่น โครงการซ่อมแซมถนน เป็นต้น ฉะนั้น เงินส่วนหนึ่งที่จะมีการเบิกจ่ายลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 ก็มาจากโครงการขนาดเล็ก
“ช่วงไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2566 จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่ค้างจากปีงบประมาณ 65 โดยผู้ที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีสำเร็จจะเอามาจ่ายในไตรมาสแรก ส่วนโครงการใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากโครงการขนาดเล็กที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้เร็ว ซึ่งจะอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ”
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า คาดว่าสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2566 เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน และสนับสนุนเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2565 กรมบัญชีกลางก็ได้มีการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลการเบิกจ่ายล่าสุดในเดือนส.ค.65 ยังเป็นไปตามแผน และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2565 จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว ว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 ก.ย.65 มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 2.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.27% จากงบประมาณทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท ยังไม่เบิกจ่ายคงเหลือ 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ แบ่งเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96.47%, รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 3.82 แสนล้านบาท คิดเป็น 64.21% , และรายจ่ายงลทุนกรณีไม่รวมงบกลาง เบิกจ่ายแล้ว 3.78 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.35% ขณะที่เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 1.93 แสนล้านบาท คิดเป็น 81.82% จากวงเงินทั้งหมด 2.36 แสนล้านบาท ยังไม่เบิกจ่ายคงเหลือ 4.3 หมื่นล้านบาท