

- ยกเลิกเคอร์ฟิว ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติก่อน
- คาดจีดีพีทรุดต่ำสุดไตรมาส 2 เริ่มฟื้นไตรมาส 3
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวถึงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เหลือ 0.50% ต่อปีว่า การลดดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ควรทำในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และขยายตัวไม่ได้อย่างที่คิดในช่วงนี้ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.นั้นสอดคล้องกับนโยบายการเงินการคลังของกระทรวงการคลัง สำหรับกรณีที่ภาคเอกชนมีข้อร้องเรียนว่า ควรจะออกมาตรการช้อปช่วยชาติในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น
นายลวรณ กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่การออกมาตรการนั้นจะต้องดูช่วงเวลาเหมาะสมด้วย ส่วนมาตรการที่ออกมาจะเป็นรูปแบบใดนั้นตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าจะมีการใช้มาตรการใด แต่กระทรวงการคลังมีกระสุนเตรียมไว้แล้วสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เวลาที่เหมาะสมหมาย ความว่า ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต้องสามารถเดินทางไปมาข้ามจังหวัดได้ และสามารถเดินทางท่องเที่ยว โดยรัฐบาลต้องยกเลิกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฉุกเฉิน ยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้ประชาชนกลับมาเดินห้างได้อย่างอิสระก่อน ถึงจะกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท”
ส่วนเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวแบบตัวยู ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หรือตัววี ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 นั้นยังเร็วไปที่จะตอบ ขณะนี้ต้องประคองภาคธุรกิจและประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ และให้ล้มน้อยที่สุด เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ภาคธุรกิจและประชาชนก็พร้อมหนุนและเป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกของปีหรือตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น ไตรมาสแรกจึงได้รับผลกระทบเล็กน้อย หรือติดลบไม่มาก ส่วนผลกระทบหนักจะตกอยู่ในไตรมาสสองที่ติดลบจะมาก ส่วนไตรมาสสามและสี่นั้น สศค.คาดว่า หากเศรษฐกิจจะดีขึ้นและรัฐบาลรับมือกับโควิด-19ได้ดี จะทำให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ
“ในช่วงภาวะปกติการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจในทุกๆ เดือน หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตัวเลขที่แถลงออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในการวางแผนดำเนินธุรกิจ แต่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ไม่มีใครลงทุน ดังนั้นเพื่อลดความสับสน สศค.จะยึดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ที่ติดลบ 1.8% ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ แถลงไว้”