คลัง ถกเอกชนหาทางเร่งกระตุ้น ศก. จ่อยกเลิกภาษีแบรนด์เนมดัง ทั้ง’แอร์เมส- ปราดา-หลุยส์-โรเล็กซ์’ หวังดึงดูดนักช้อปต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทยช่วงไฮซีซั่น
- ลดภาษีกลุ่มแบรนด์เนม สินค้าลักชัวรี่ เป็นหลัก
- เน้นแบรนด์กลุ่มไฮเอนด์ แอร์เมส- ปราดา-หลุยส์
- ดึงดูดนักช้อปต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ช่วงไฮซีซั่นนี้ ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ภาคการท่องเที่ยว เป็นตัวชูโรงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นการประชุมนัดแรกร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลักการคือต้องการออกมาตรการมากระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดึงกลุ่ม นักท่องเที่ยวต่างชาติรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ามาตรการจะออกมาเป็นอย่างไร จะต้องหารือเพิ่มเติมก่อน แต่จะพยายามเร่งทำให้เสร็จ โดยเร็ว เพื่อเริ่มใช้ทันภายในฤดูการท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่นที่จะมาถึง
รายงานข่าวแจ้งว่า การหารือยังมีตัวแทนจากกรมภาษีเข้าร่วม เพื่อใช้นโยบายทางภาษีมาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ต้องไปศึกษาหาวิธีการเข้ามา เช่น ลดหรือยกเว้นภาษีสินค้าแบรนด์เนม เพราะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ จำเป็นต้องการกระตุ้นครั้งใหญ่ เพราะต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งเงินทุนไหลออก งบประมาณล่าช้า อีกทั้งโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กว่าจะได้ใช้ต้องรอไปถึงต้นปีหน้า
ดังนั้น การท่องเที่ยวจะช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นได้ สำหรับสินค้าเข้าข่ายจะลดหรือยกเว้นภาษี เบื้องต้นศึกษาการลดภาษีกลุ่มแบรนด์เนม สินค้าลักชัวรี่ เป็นหลัก เช่น กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา เสื้อผ้า เครื่องสำอาง แต่จะเน้นแบรนด์กลุ่มไฮเอนด์เป็นหลัก เช่น แอร์เมส ปราดา หลุยส์วิตตอง โรเล็กซ์ ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 30% หากลดลงมาก็สามารถดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามาช้อปปิ้งในเมืองไทย และส่งเสริมการ ท่องเที่ยวได้ ส่วนแบรนด์ต่างชาติทั่วไป ไม่ใช่ไฮเอนด์อาจไม่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เพิ่งประชุมครั้งแรก กรมศุลกากรต้องไปดูความเหมาะสม ข้อดีข้อเสียทุกมิติก่อน โดยเฉพาะการกำหนดขอบเขตคำว่าสินค้า แบรนด์เนม ลักชัวรี่ ว่าประเภทใดถึงจะได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากสินค้าแบรนด์เนมมีหลายเกรด หลายแบบต้องดูผลกระทบเชิงจัดเก็บรายได้ ที่สำคัญผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เช่น หากลดภาษีแบรนด์เนมสินค้ากลุ่มเครื่องหนัง รองเท้า กระเป๋า อาจทำให้ผู้ผลิตในประเทศเดือดร้อน ขายของไม่ได้ แต่ธุรกิจบริการ ห้างสรรพสินค้าอาจได้ประโยชน์
ดังนั้น จึงต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบข้อดีข้อเสียต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน