

- เตรียมปิดโครงการ 17 พ.ค.นี้
- ชี้ยังไม่เปิดลงทะเบียนรอบ 2
- กลุ่มนักศึกษาร้องรัฐจ่ายเยียวยาทุกคน
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาทว่า ขณะนี้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง มองเห็นว่ายังมีประชาชนเดินทางมาร้องทุกข์ที่กรมประชาสัมพันธ์จำนวนมากอยู่ จึงได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายเวลาเปิดโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ไปจนถึงสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค.63 จากเดิมจะสิ้นสุดการเปิดโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนวันที่ 8พ.ค.นี้ ส่วนในวันที่ 9-10พ.ค.นี้ จะงดให้บริการ เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ในขณะที่การปิดรับทบทวนสิทธิ์ผ่านเว็บ เราไม่ทิ้งกัน.com จะยังคงปิดระบบวันที่ 10 พ.ค.นี้ ตามเดิม

“จากการสอบถามประชาชนที่มายื่นเรื่องร้องเรียน พบว่าประชาชน มีปัญหาการลงทะเบียนไม่สำเร็จจำนวนมาก เนื่องจากเลขบัตรประชาชนไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงบางรายเข้าใจว่าเป็นการเปิดรับลงทะเบียนเงินเยียวยารอบใหม่ จึงขอเรียนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดลงทะเบียนมาตรการเยียวยารอบที่ 2″
ขณะที่ในส่วนของการยื่นทบทวนสิทธิ์ ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์แล้ว 5.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์และได้รับเงินแล้ว 3.8 ล้านคน ส่วนที่เหลือกระทรวงการคลังจะเร่งส่งผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พ.ค.63 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดโครงการ โดยผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมดจะรู้ว่าตนได้รับสิทธิ์ หรือไม่ได้รับสิทธิ์ ส่วนใครที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองของกระทรวงการคลังนั้นจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแน่นอน
ทั้งนี้หลังจากวันที่ 17 พ.ค.63 ซึ่งปิดโครงการมาตรการเยียวยา กระทรวงการคลัง จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดูแลกลุ่มที่ตกหล่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน และกลุ่มที่ลงทะเบียนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ไม่สำเร็จราว 1 ล้านคน เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 11.00น. มีกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ จำนวน 27 กลุ่ม เดินทางมายื่นหนังสือที่หน้าประตู 4 กระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือประชาชนถ้วนหน้า โดยอยากให้รัฐพิจารณาแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนชาวไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แทนมาตรการแจกเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน เพื่อไม่ให้มีประชาชนคนใดต้องตกหล่นจากความผิดพลาด และความล่าช้าระบบการพิสูจน์สิทธิของรัฐบาล
ทั้งนี้อ้างอิงจาก สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 50.8 ล้านคน ดังนั้นจึงคาดว่าจะใช้งบประมาณ 457,200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยมองว่ารัฐบาลอาจพิจารณาตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อดำเนินมาตรการดังกล่าว