ครม.ไฟเขียวประกันราคาข้าวโพด



  • ทุ่มงบ313ล้านบาทอุ้มเกษตรกร
  • ปูพรมช่วยเกษตรกร3ล้านไร่
  • คุ้มครองภัยพิบัติธรรมชาติ7ภัย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครง การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 วงเงินงบประมาณ 313.98 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินในโครงการฯ ปีการผลิต 2562 จำนวน 48.21 ล้านบาทและเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 265.77 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทด ลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาล จำนวน 265.77 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวก  1% ในปีงบประมาณถัดไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ  

สำหรับโครงการนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ประกอบด้วย 1.พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวม 3 ล้านไร่ ปรับลดลง 300,000 ไร่ และกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกพื้นที่ โดยกำหนดนิยามผู้เอาประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2563/2564 จากเดิมที่กำหนดให้ ปีการผลิต 2562/63 รับประกันภัยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์

และ2.ค่าเบี้ยประกันภัย รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ 1.ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 รวม 2.9 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกัน ภัย 172.27 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ  กลุ่ม 1 ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่ (ประกันภัยกลุ่ม) และกลุ่ม 2 ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 100,000 ไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)  โดยรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 108.27 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลืออีก 64 บาทต่อไร่ ในกลุ่ม 1 ธ.ก.ส. เป็นผู้จ่ายให้ ส่วนกลุ่ม 2 เกษตรกรต้องจ่ายเอง

และ2.ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 2 เกษตรกรจ่ายเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ รวม 100,000 ไร่ ปรับลดจำนวนพื้น ที่จากเดิมที่กำหนดไว้ 300,000 ไร่ เบี้ยประกันภัยในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 97.37 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 108.07 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 118.77 บาทต่อไร่