

- ชี้กองทุนฯ ยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาเสถียรภาพ
- รักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน
วันนี้ (25 ต.ค.65) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนการกู้เงินของ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากมติ ครม. เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้อนุมัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้
ทั้งนี้ แผนกู้เงินที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะดำเนินการ 2 ส่วน คือ
1.การกู้เงิน 30,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงินครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ดำเนินการตั้งแต่ธันวาคม-กุมภาพันธ์ 2566
2.การกู้เงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นการทยอยกู้เงินครั้งที่ 3 ถึงครั้งที่ 8 ดำเนินการตั้งแต่กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2566
ทั้งนี้ สำหรับสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาทแต่เหตุการณ์ในปัจจุบันยังมีวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อและส่งผลกระทบที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้ ตั้งแต่พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง และมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ขณะที่ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 และยังมีปัญหาอุทกภัยในปัจจุบัน
“กองทุนที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาเสถียรภาพ และระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน” นายอนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นรายเดือนประมาณ 6,882 ล้านบาท