- ประชาชนปลูกได้คนละ1ไร่
- คุยฟุ้งเพิ่มรายได้เกษตรกรพุ่ง
- อ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎ กระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประ เภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. …ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยจะมุ่งเน้นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทดแทนกฎกระทรวงฯ เดิมที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2559 ซึ่งมีความเข้มงวดและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของ ครม.ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมทางการ เกษตร
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชงและพืชสมุนไพรในการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นของกัญชงนอกจากเส้นใย ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนากัญชงให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อการส่งออกในอนาคตอีกด้วย
สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ ได้แก่ การอนุญาตให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุค คลสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ในเชิงพาณิชย์ โดยยื่นขอตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยนิติบุค คลจะต้องมีกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามเป็นผู้มีสัญชาติไทย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การขออนุญาตผลิต จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออกกัญชง จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงฯบังคับใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงในประเทศไทย ป้องกันการนำเข้าและสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มเติมการอนุญาตให้ครัวเรือนที่มีวัฒน ธรรมในการใช้กัญชงเป็นสิ่งทอแบบดั้งเดิมสามารถปลูกกัญชงในครัวเรือนได้ โดยปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีใบอนุญาตในการปลูก และปลูกสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต เพื่อส่งเสริมการปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงของไทย
ทั้งนี้ กัญชง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. Sativa จัดอยู่ในวงศ์กัญชา (Cannabaceae) โดยต้นกัญชงจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเป็นสีเขียวตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1-6 เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า และเริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ การเจริญเติบโตของต้นจะช้าในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเพิ่มความสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร มีรากเป็นระบบรากแก้วและมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก การปลูกต้นกัญชงจะปลูกด้วยการใช้เมล็ด ซึ่งใช้เวลางอกประมาณ 8-14 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 3-4 เดือน กัญชงเป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียกลางและแพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออก อินเดีย และในทวีปยุโรป
ส่วนใบของกัญชงมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย รักษาอาการวิง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน และช่วยแก้กระหาย ใช้รักษาอาการท้องร่วงและโรคบิด บรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ และรักษาโรคเกาต์ ภูมิปัญญาของชาวม้งจะใช้เมล็ดสดของกัญชงเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสดๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เปลือกจากลำต้นของกัญชงยังให้เส้นใยเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือกสำหรับการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม เนื้อของลำต้นที่ลอกเปลือกออกแล้วสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้ แกนของต้นกัญชงยังมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ Alcohol, Ethanol, และMethanol นอกจากนี้ แกนกัญชงยังถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย
ทั้งนี้ มาตรา7 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บัญญัติยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1.ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงเช่น เฮโรอื่น (Heroin) 2.ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟืน (Morphine) โดคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium) 3.ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ตัว 4.สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anycride) อาเซติลคลอไรด์ (Acety/ Chloride) และ5.ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม และกัญชง.