คมนาคมมั่นใจแลนด์บริดจ์ ”ระนอง-ชุมพร”เกิดแน่! เตรียมเปิดประมูลให้ได้ปี 65-66 ช่วยกระตุ้นการลงทุนหลังโควิด ใช้รูปแบบ PPP มูลค่ากว่า 2-3 แสนล้าน สร้างท่าเรือ-มอเตอร์เวย์-ทางรถไฟ เชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ก่อนเปิดให้บริการในปี 70-72
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และ จราจร (สนข.)ได้ทำการศึกษา ซึ่งภายในต้นปี 65 จะเห็นรูปแบบการดำเนินการในโครงการดังกล่าวชัดเจนขึ้น โดยรูปแบบในการดำเนินการจะเป็นการเปิดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP ประกวดราคาแบบ International Bidding ในวงเงินงบประมาณกว่า 2-3 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 66-67 จะเปิดประกวดราคา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี ซึ่งหากทำตามแผนจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 70-72 ใช้งานได้ ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับ กำหนดการแล้วเสร็จของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ด้วย
ทั้งนี้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่า ในเมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จะทำอย่างไรให้มีการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางน้ำลง เนื่องจากในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้าน มหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบ มะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ ปี
อย่างไรก็ตามได้มีการคาดว่าในปี 67 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าปี 93 ปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่ม ขึ้นอีก 4 เท่า ดังนั้นไทยควรพัฒนาศักยภาพและความได้เปรียบที่มี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงต่อพื้นที่ภาคใต้ มั่นใจว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของพื้นที่ภาคใต้เติบโตจากสัดส่วน 2% เป็น 10 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี เมื่อมีการเปิดใช้โครงการแล้ว นอกจากนั้นในส่วนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เส้นทางเรือ จากตะวันออกของภูมิภาค ไปยังตะวันตกของภูมิภาค ในปี 62 ยังพบว่ามีปริมารการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กว่า 500 ล้านทีอีียู ซึ่งไม่รวมการขนส่งน้ำมัน หากไทยเริ่มแลนด์บริดจ์ จะแบ่งส่วนแบ่งการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ได้ 20%ประมาณ 100 ล้านทีทียู
“การสร้างแลนด์บริดจ์ ประเทศไทยไม่ได้เป็นคนทำแห่งแรก อย่างประเทศจีนก็มีความพยายามที่จะมาทำที่ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากต้องการหนีไม่ต้องไปผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งในแต่ละปีมีจราจรหนาแน่นมาก ซึ่งตนได้ให้โจทย์กับทาง สนข.ว่า การทำแลนด์บริดจ์ ต้้องให้มีระยะทางสั้น ราบ เส้นทางตรงมากที่สุด กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุด ซึ่งเมื่อมองแง่การลงทุนอาจจะใช้งบประมาณมาก แต่หากพิจารณาระยะยาวจะพบว่ามีความคุ้มค่าการลงทุน และ อยู่ไปกับประเทศไทยนาน ซึ่งแนวคิดนี้ตนมองว่า อาจไม่มีแลนด์บริดจ์เชื่อมฝั่งทะเลระนอง ชุมพร ที่เดียว ในอนาคตอาจขยายไปที่อื่นๆได้อีก”
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจากที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้มีแนวคิดขุดคอคลอดกระ ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 4 ล้านล้านบาท และหากดำเนินการอาจจะมีปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ ทืี่จะต้องทำสะพานเชื่อมสองฝั่ง และที่สำคัญคือเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระดับน้ำของ 2 ฝั่งทะเล อันดามัน และ อ่าวไทย มีปริมาณความสูงของน้ำที่ต่างกันกว่า 1.5 เมตร หากมีเรือผ่านต้องมีการทำประตูเปิดปิด ซึ่งจากหลายๆปัจจัยทำให้เห็นว่า หากทำแบบนั้นไทยจะไม่มีความได้เปรียบ และหากพิจารณาจากมิติของความมั่นคงก็ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการแบ่งประเทศไปโดยปริยาย
สำหรับบทบาทของแลนด์บริดจ์ จะเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าส่งออกของไทย รวมถึงเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค เช่น อาเซียน และ BIMSTEC ส่วนด้านการขนส่ง จะเป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และ มหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางรถไฟ และ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) นอกจากนั้นยังเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ โดยขนส่งทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และส่งผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อกระจายในภูมิภาค เช่น อาเซียน BIMSTEC รวมถึงจีนบางส่วน ทั้งนี้การก่อสร้างจะสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตาม แผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน