คนไทยในต่างประเทศลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกว่า 7 หมื่นคน



  • คูหา จะเป็นการจัดตั้งแบบเดียวกับในประเทศไทย
  • การจัดคูหาเคลื่อนที่ เพื่อเข้าถึงในบางพื้นที่

นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ว่า จากการเปิดให้คนไทยในต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2566 และจะปิดลงทะเบียนในวันที่ 9 เมษายน สถิติผู้ลงทะเบียนล่าสุดคือ 72,779 ราย

โดยเมื่อปี 2562 มีผู้ลงทะเบียน 119,313 ราย จึงคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ครั้งนี้ใกล้เคียงกับครั้งก่อน กระทรวงการต่างประเทศมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 23.59 น. (เวลาประเทศไทย)

สำหรับระบบการลงทะเบียน จัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศมีการประสานการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

ในส่วนของรูปแบบวิธีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ 3 รูปแบบ ประกอบด้วยแบบคูหา ทางไปรษณีย์ และแบบอื่นๆ โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ

ในส่วนของแบบคูหา จะเป็นการจัดตั้งแบบเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีคนไทยอยู่อาศัยในบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นจำนวนมาก

ขณะที่แบบไปรษณีย์ ซึ่งจะต้องส่งไปรษณีย์กลับมาที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลเหมาะสำหรับประเทศที่มีคนไทยกระจายตัวและมีระบบไปรษณีย์ที่เชื่อถือได้

ในส่วนของแบบอื่นๆ เป็นรูปแบบที่ออกแบบให้เหมาะสมตามพื้นที่นั้นๆ อาทิ การจัดคูหาเคลื่อนที่ เพื่อเข้าถึงในบางพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปแต่มีคนไทยรวมตัวอยู่จำนวนมาก

หากเกิดภัยพิบัติและเหตุประท้วงในพื้นที่ประเทศนั้นๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สิทธิ์สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยต้องทำหนังสือเข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ยังไม่มีพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

สำหรับความคืบหน้าและความพร้อมของการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี 2566 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 กรมการกงสุลได้เปิดห้องสถานการณ์ศูนย์ประสานงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ณ อาคารกรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ผ่านระบบเฝ้าติดตาม (Overseas Voting Monitoring System: OVMS) ซึ่งเป็นระบบออนไลน์แบบ real-time ช่วยตอบโจทย์ความแตกต่างด้านเวลาของแต่ละพื้นที่ ช่วยให้การทำงานและการส่งบัตรคะนนกลับมาไทยเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนคนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่ได้จัดเตรียมไว้ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุล หรือศูนย์ประสานงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ได้