คนย่าน”พงษ์เพชร”เฮ!…คมนาคมสั่งถอยเวนคืนสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาล



คนกรุงย่านพงษ์เพชรเตรียมเฮ!หลังคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาไม่เวนคืนที่ดินสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาลบริเวณแยกพงษ์เพชร ทำให้ลดผลกระทบประชาชนกว่า 96 ครัวเรือนที่ไม่ถูกเวนคืน ส่วนรัฐลดงบประมาณเวนคืนกว่า 1,250 ล้านบาท ด้านการทางฯ-รฟม.จับมือแน่นสร้างฐานราก ลงมือสร้างส่วนทับซ้อน ทางด่วน N1 -สายสีน้ำตาลพร้อมกัน มั่นใจสร้่างเสร็จสีน้ำตาลรองรับประชาชนเดินทางกว่า 218,547คน-เที่ยว/วัน แถมเป็นรถไฟฟ้าที่มีจุดตัดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า7สายทางใน 5 จุดหลัก

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาแนวทางลดผลกระทบการจราจรจากการดำเนินการในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (ช่วง แยกแคราย-เกษตรนวมินทร์-แยกลำสาลี) ระยะทาง 22.1กม.ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาบริเวณแยกพงษ์เพชร โดยไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินจากประชาชนเพื่อสร้างสถานี และ แนวเขตทาง ผิวจราจจร ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 96 ครัวเรือน บริเวรณดังกล่าวไม่ต้องถูกเวนคืนและทำให้ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 1,250 ล้านบาทมาเวนคืนที่ดิน

นอกจากนั้นในส่วนของการก่อสร้างที่มีโครงการทับซ้อนกันในโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ที่มีแนวก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางด่วนสายเหนือขั้นที่ 1 หรือ N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่รูปแบบก่อสร้างจะเป็นการขุดอุโมงค์ กับ รฟม. นั้น ทาง กทพ. และ รฟม. ตกลงร่วมกันที่จะมีการก่อสร้างแบบบูรณาการร่วมกันในการก่อสร้าง ลงเสาเข็มกลุ่มพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการจราจร ส่วนช่วงบริเวณจุดแยกเกษตรนวมินทร์-ลาดปลาเค้า ซึ่งเป็นจุด N1 ที่พ้นการลอดอุโมงค์มาชนช่วงก่อสร้าง เชื่อมต่อกับ N2 และรถไฟฟ้่สายสีน้ำตาล ให้มีการปรับแบบการเชื่อมต่อ ให้กระทบการก่อสร้างสายสีน้ำตาลให้น้อยที่สุด 

นายสรพงษ์  กล่าวต่อว่า สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วง แยกแคราย-เกษตรนวมินทร์-แยกลำสาลี(บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1กม.โดยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail) โครงสร้างยกระดับจำนวน 20 สถานี ที่สำคัญคือ  เป็นรถไฟฟ้าที่มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า7สายทางใน 5 จุดหลักประกอบด้วยเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีชมพู ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และยังเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีบางเขน  

ขณะที่เดินทางต่อมาบนถนนเกษตรนวมินทร์ ก็จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานีแยกเกษตร และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่สถานีต่างระดับฉลองรัช และเมื่อเดินทางมาสิ้นสุดเส้นทางที่แยกลำสาลียังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วย ทั้งนี้มีการประเมิณปริมาณผู้โโยสารที่จะเข้ามาใช้เส้นทางนี้ประมาณ 218,547คน-เที่ยว/วัน