.ถูกข้าวราคาถูกอินเดีย เวียดนาม เมียนมาตีกระจุย
.หนำซ้ำยังไม่มีพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มตอบสนองผู้บริโภคได้อีก
.ทำเสียส่วนแบ่งตลาดในมาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ 3-4 ปีติดกัน
นายวรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในมาเลเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 61 เคยครองอันดับ 1 แต่ปี 62 ตกมาอยู่อันดับ 2 และกลายเป็นอันดับ 5 ในปี 63 และปี 64 ขณะที่เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และอินเดีย แซงหน้าไทย ปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้าวไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยชาวมาเลเซีย ตัดสินใจซื้อจากราคาเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังน่าจะมาจากนโยบายของรัฐบาลมาเลเซีย ที่สนับสนุนปรับปรุงภาคการผลิต โดยเฉพาะข้าว ด้วยการส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศในระดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม เพี่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
สำหรับการนำเข้าข้าวของมาเลเซียนนั้น ปี 62 นำเข้าจากเวียดนามอันดับ 1 ที่ 462,084 ตัน ตามด้วยไทย 292,624 ตัน, อินเดีย 81,399 ตัน, ปากีสถาน 51,405 ตัน, เมียนมา 48,518 ตัน ส่วนปี 63 เวียดนามยังคงเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ที่ 526,517 ตัน ตามด้วยอินเดีย 336,283 ตัน, ปากีสถาน 126,162 ตัน, เมีนมา 111,779 ตัน และไทยอันดับ 5 ที่ 75,802 ตัน ขณะที่ช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 64 อินเดีย ขึ้นเป็นอันดับ 1 ที่ 72,203 รองลงมาคือ ปากีสถาน 19,575 ตัน, เวียดนาม 13,978 ตัน, เมียนมา 10,899 ตัน ส่วนไทยยังคงอยู่อันดับ 5 ที่ 6,059 ตัน
ด้านน.ส.จันทนา โชติมุนี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์เสียส่วนแบ่งตลาดให้ข้าวจากคู่แข่งเช่นกัน โดยในปี 63 ฟิลิปปินส์ นำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับ 1 ที่ 852,602 ตัน อันดับ 2 เวียดนาม ที่ 680,054 ตัน ตามด้วยเมียนมา 62,554 ตัน และจีน 58,311 ตัน แต่มาปี 62 ข้าวไทยอยู่อันดับ 2 ที่ 350,349 ตัน โดยเวียดนาม สามารถชิงส่นแบ่งอันดับ 1 จากไทยได้ที่ 2.02 ล้านตัน อันดับ 3 เมียนมา 218,016 ตัน และจีน 12,722 ตัน
ขณะที่ปี 63 ข้าวไทยตกมาอยู่อันดับ 3 ที่ 67,733 ตัน แต่เวียดนามยังคงครองอันดับ 1 ที่ 1.79 ล้านตัน อันดับ 2 เมียนมา 158,074 ตัน และจีน 35,253 ตัน ส่วนช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค) ปี 64 ไทยอยู่อันดับ 3 ที่ 26,977 ตัน อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นเวียดนาม และเมียนมา ที่ 545,416 ตัน และ 32,300 ตันตามลำดับ และจีน 5,919 ตัน โดยตั้งแต่ฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าวในปี 62 ไทยยังไม่สมารถช่วงชิงโอกาสในการขยายตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้ เพราะราคาข้าวไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้แข่งขันลำบาก
“ที่สำคัญ ตั้งแต่เดือนพ.ค.64 รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ลดภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับสินค้าข้าว ระยะเวลา 1 ปี ทำให้ภาษีนำเข้าภายในโควตาลดจาก 40% เหลือเพียง 35% และนอกโควตาลดจาก 50% เหลือ 35% เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ยิ่งทำให้ข้าวไทยแข่งขันกับคู่แข่งนอกอาเซียน อย่าง อินเดีย ปากีสถาน และจีน ยากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้ ภาษีเหลือ 35% เท่ากับสมาชิกอาเซียน แต่ราคาถูกกว่ามาก”
อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวไทยยังคงเป็นที่เชื่อมั่นใจเรื่องคุณภาพมาตรฐาน แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในด้านราคา และพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มที่เป็นที่นิยมบริโภคในปัจจุบันได้ ดังนั้น ไทยต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวในสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในราคาที่แข่งขันได้ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์กลับคืนมา ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 64 ไทยส่งออกข้าวได้ 1.46 ล้านตัน ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 2.11 ล้านตัน มูลค่า 28,190 ล้านบาท ลดลง 34.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 43,079 ล้านบาท