ข้อตกลงการค้าเฟส1ช่วยบรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น



  • พาณิชย์ยันดีต่อการค้าขายของไทยไปจีนและสหรัฐฯ
  • พบสินค้าไทยหลายรายการมีโอกาสส่งออกพุ่ง
  • แต่บางสินค้าอาจแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์กรณีที่สหรัฐฯ และจีนลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก (เฟส1) ว่า จะช่วยลดแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ นักลงทุน เพราะเป็นสัญญาณบวกชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่ดีขึ้น และยังจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงการส่งออกไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงให้การส่งออกในภาพรวมของไทยดีขึ้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์แล้วพบว่า สินค้าที่ไทยยังมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง เพราะในข้อตกลงเฟส 1 ไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ดังนั้น ไทยจึงมีโอกาสส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนได้ต่อไป ส่วนสินค้าที่สหรัฐฯกำหนดให้จีนต้องซื้อจากสหรัฐฯเพิ่มเติม เช่น เนื้อสัตว์ ฝ้าย อาหารทะเล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และถ่านหิน ไทยยังมีโอกาสส่งออกไปจีนได้ เพราะจีนยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ที่สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่นในตลาดจีน แต่อาจเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการพัฒนา ควบคุมมาตรการการผลิต จึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นทางอ้อม เพราะสหรัฐฯ ได้ลดภาษีสินค้ากลุ่ม 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% จากเดิม 15% และชะลอเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติม ทำให้สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ของจีนยังสามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น จากการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น ภายหลังการปรับลดภาษีนำเข้าลงมา

อย่างไรก็ตาม สนค. จะศึกษารายละเอียดสินค้าภายใต้ข้อตกลง เพื่อประเมินผลกระทบและชี้ช่องโอกาสการส่งออกเพิ่มเติม รวมถึงจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อตกลงเฟส 1 รวมถึงการหารือประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่จะอยู่ในข้อตกลงเฟส 2 เช่น การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การคุกคามทางไซเบอร์ การเลือกปฏิบัติต่อการค้าดิจิทัล