- ทางหลวงชนบทยัน“แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต-หลักนำทางยางธรรมชาติ”มีประโยชน์
- สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนยันสร้างปริมาณรับซื้อจำนวนหลายแสนตันในระบบ
- ขณะที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เชื่อจะสร้าง “เสถียรภาพ”ราคายางพาราในประเทศให้ดีขึ้นได้
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวถึง กรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในวันที่ 25 สิงหาคม 63 ว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการศึกษา และวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความเหมาะสม และมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้คือ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP)
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้นำคณะไปทดสอบความมั่นใจในด้านความปลอดภัยก่อนนำมาใช้งานจริง โดยได้มีการได้ทำการทดสอบทั้งในประเทศไทย และประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์วิ่งเข้าชน เพื่อวัดแรงปะทะที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน สามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นทางกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จึงได้นำ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต RFB” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP” มาเริ่มการใช้งานจริง และเมื่อครบกำหนด 3 ปี วัสดุยางพารา ในปีที่ 1 จะเสื่อมสภาพ
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป จะต้องมีการรับซื้อน้ำยางพาราเพื่อมาผลิต “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต RFB” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP” อย่างต่อเนื่องในทุกปี เท่ากับจะมีการตั้งงบประมาณ เพื่อซื้อน้ำยางพารา ปีละประมาณ 3.5 แสนตัน ในทุก ๆ ปี
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 63 แล้วกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ในปีที่ผ่านมามีสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 807 แห่ง สมาชิก 223,155 ราย พื้นที่ปลูกยางพาราของสมาชิก 3.46 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 820,647 ตัน
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน คิดเป็นเงินที่เกษตรกรได้รับประมาณ 952 ล้านบาท เมื่อคิดตลอดโครงการฯ ถึงปีงบประมาณ 65 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 1.007ล้านตัน คิดเป็นเงินที่เกษตรกรได้รับ 30,108 ล้านบาท อีกทั้งยังจะสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพารา และสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพแก่ชาวสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี
แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต RFB
หลักนำทางยางธรรมชาติ RGP