กสทช. ถกกรมราง ป้องกันปัญหาคลื่น 2600 MHz รบกวนการเดินรถไฟฟ้า



  • บีทีเอส-เอไอเอส -รฟม.-BEM รวมถกด้วย
  • ใช้คลื่นฟรี ต้องลงทุนสร้างระบบป้องกันเอง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มี.ค. 2563 นี้ สำนักงาน กสทช. จะเป็นเจ้าภาพนัดผู้บริหารระดับสูง5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือ AIS การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ร่วมประชุมตามที่ BTS ได้ทำหนังสือแจ้งข้อหารือมายังสำนักงาน กสทช. เนื่องจากมีข้อห่วงใยในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400-2500 MHz ที่ใช้ในระบบสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่ AWN ประมูลไปทำ 5G จะเกิดปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่

ทั้งนี้กสทช. จะเป็นคนกลางในการประสานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือกัน เพื่อตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมหาวิธีป้องกัน กำหนดแนวทางเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่ที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้า และประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะในการเดินทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยผลของการประชุมดังกล่าว ทางผู้ให้บริการรถฟ้าจะได้ข้อมูลไปหารือกับบริษัทผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณเพื่อพัฒนาระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ (Filter) ให้มีประสิทธิสูงสุด เพื่อจะป้องกันการรบกวนจากการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เมื่อเปิดให้บริการ 5G เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเดินรถไฟฟ้าในอนาคต ด้าน AWN เองก็จะได้ข้อมูลสำหรับวางแผนในการออกแบบ กำหนดจุดตั้ง อุปกรณ์เพื่อให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการรบกวนกันของคลื่น

“รถไฟฟ้า ใช้คลื่นฟรี ก็ต้องลงทุนสร้างระบบป้องกันการรบกวนเอง ซึ่งใช้เงินไม่มาก เชื่อว่าผู้ให้บริการรถไฟฟ้า พร้อมลงทุนอยู่แล้ว เพื่อให้การบริการประชาชนดีเยี่ยม”