

วันที่ 13 ส.ค.2564 นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรง ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ วันนี้จึงส่งความเห็นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาล เพื่อเป็นทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นคณะกรรมการสมานฉันท์ มีแนวทาง ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ 2.ยุติการใช้ความรุนแรงเน้นการเจรจาแก้ไขปัญหา 3.เปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้มีการเจรจา 4.และตั้งคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างในอดีต
นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ขณะนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำเป็นรายงานเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งและมีความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นในช่วงนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์มีความห่วงใยจึงได้เสนอทางออกไปยังหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวต้องในลักษณะเป็นข้อแนะนำแล้ว
“สิ่งที่รัฐบาลและภาครัฐทำได้ทันทีเวลานี้ คือการแสดงท่าทีประนีประนอมที่ชัดเจน หรือส่งสัญญาณความพร้อมที่จะปรับท่าทีให้ ผู้เห็นต่าง ได้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องเพื่อพัฒนาไปสู่การพูดคุยกันทำบรรยากาศให้ประชาชน และผู้เรียกร้องมีความไว้วางใจ และอย่ามองผู้วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม อย่าแสดงความไม่สนใจผู้ที่ออกมาเรียกร้องและผลักให้เป็นเรื่องของตำรวจ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ควรเปิดพื้นที่ให้คนที่มีปัญหาจริงได้เรียกร้องเพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรแล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร การใช้กำลังเข้าปราบปรามไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทางออก มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม่มีช่องทางสื่อสารกัน ผู้ชุมนุมจะหาวิธีสื่อสารโดยเรียกร้องความสนใจอย่างที่เห็น ซึ่งการชุมนุมเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยปกติ ที่รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพไว้อยู่แล้ว มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะคอยกำกับดูแล ไม่ได้แปลว่าในสภาวะฉุกเฉินแบบนี้จะห้ามชุมนุมได้ทั้งหมด ทางออกสำคัญต้องเปลี่ยนมุมมองให้กว้างกว่าเดิม อย่าไปคิดแค่ว่าเป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายค้านก็เช่นเดียวกัน”