กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรก ต่ำกว่าเป้า 70,000 ล้านบาท



  • เหตุพิษโควิด-เลื่อนเวลาชำระภาษี 
  • ชี้สภาพเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ควรไล่บี้เก็บภาษี 
  • ปรับกลยุทธ์กรมใหม่รับโควิด-19 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สำหรับผลจัดเก็บรายได้ 7 เดือน(ต.ค.61 -เม.ย.63) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 70,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และมาตรการของกระทรวงการคลังในการเลื่อนระยะเวลาการชำระภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิยติบุคคล รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ออกไป เพื่อให้เงินยังคงอยู่ในมือของประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีให้นานที่สุด

สำหรับเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2563 ที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านล้านบาทนั้น คาดว่าในสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ กรมอาจเก็บภาษีได้ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ ส่วนการจะลดเป้าจัดเก็บลดเท่าไหร่นั้น ขอรอดูตัวเลขผู้ที่มาเสียภาษีในเดือนส.ค.ก่อน แต่อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรจะไม่เอาเรื่องเป้าหมายการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องสำคัญ โดยกรมได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของกรมใหม่ เน้นให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้เสียภาษี และผู้ประกอบการในระบบให้มากที่สุด

 “สภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ ไม่ควรจะมาไล่บี้เก็บภาษี  และการดำเนินการตามนโยบายการคลังจะต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย  ดังนั้นกรมจึงได้มีมาตรการเลื่อนการชำระภาษีออกไป แต่ยังคงให้การจ่ายภาษีอยู่ภายใต้ปีงบประมาณ 2563”

นอกจากการเลื่อนการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมต้องจ่ายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นสิ้นสุดในเดือนส.ค.นี้แล้ว กรมยังได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 28,000 ล้านบาท คิดเป็น 95 % ของยอดที่ขอคืนจำนวน 3 ล้านคน และเร่งคืนภาษีเงินได้นิตคิบุคคล ในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณได้ แล้ว 27,100 ล้านบาท  และกรมยังได้ลดอัตราภาษีหัก ณ  ที่จ่าย (Withholding Tax) เหลือ 1.5% จากเดิมที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3 % ทำให้มีเม็ดเงินอยู่ในกระเป๋าของผู้ประกอบการอีก 27,000 ล้านบาท