

- นำร่องกับสถานพยาบาลของทางราชการ จำนวน 21 แห่ง
- เผยมีแผนพัฒนาต่อยอดการดำเนินการ ให้ครอบคลุมไปถึงบริการตรวจรักษาผู้ป่วยทางไกล
- ชี้งบประมาณปี 66 รัฐบาลจัดสรรการเบิกค่ารักษาพยาบาลไว้ที่ 80,000 ล้านบาท
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานพยาบาลของทางราชการหลายแห่งได้พัฒนาระบบบริการของสถานพยาบาลโดยนำแอปพลิเคชัน (Application) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ เพิ่มมากขึ้น กรมบัญชีกลางเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลข้าราชการประเภทผู้ป่วยนอก

“กรมฯ จึงได้พัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงให้สามารถทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ลดการรอคิวในการทำธุรกรรม ณ จุดชำระเงินของสถานพยาบาล” นางสาวกุลยา กล่าว
ทั้งนี้ จะดำเนินการเป็นโครงการนำร่องกับสถานพยาบาลของทางราชการ จำนวน 21 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการ จำนวน 6 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 4. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ 5. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ 6. โรงพยาบาลสระบุรี โดยกรมบัญชีกลางจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วประเทศต่อไป

“กรมบัญชีกลางยกระดับการให้บริการด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยนำเทคโนโลยี Mobile Application มาเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล โดยได้ดำเนินโครงการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางกับธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดการดำเนินการ โดยขยายขอบเขตการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชัน ให้ครอบคลุมไปถึงการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทางไกลหรือ Telemedicine รองรับกับแนวโน้มการให้บริการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อมุ่งสู่องค์กรดิจิทัลและการให้บริการที่เป็นเลิศและยกระดับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มีความทันสมัยและมีการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวกุลยา กล่าว

สำหรับสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในทางระบบสารสนเทศ หากประสงค์จะเข้าเป็นสถานพยาบาลนำร่องเพิ่มเติมจะต้องดำเนินการขออนุญาตกับกรมบัญชีกลางเป็นรายกรณีก่อนเริ่มดำเนินการ โดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลนำร่องและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล
ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) เพื่อให้ผู้มีสิทธิและสถานพยาบาลถือปฏิบัติ รายละเอียดตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 1465 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2565

นางสาวกุลยา กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และบุคคลในครอบครัว 80,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปี2565 ที่มีการใช้วงเงินในการรักษาถึง 90,700 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งการวางแผนงบประมาณเพื่อรักษาพยาบาลข้าราชการนั้นได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ และต้องสอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตข้าราชการด้วย โดยสัดส่วนการใช้สิทธิ์นั้นจะเป็นของกลุ่มผู้สูงอายุราว 20-30% ทั้งข้าราชการเกษียณอายุ และคนในครอบครัว คิดเป็นสัดส่วน 60% ของเงินงบประมาณ
นอกจากนี้ทางกรมบัญชีกลางยังได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการตรวจสอบการเบิกจ่ายใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลด้วย เพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่ายา โดยระบบจะเตือน หากบุคคลหนึ่งใช้บริการรักษาพยายาบาลในโรคชนิดเดียวกัน ในวันเดียวกันถึง 3-4 โรงพยาบาล รวมถึงเบิกค่ารักษาพยาบาลต่างโรงพยาบาลแบบข้ามจังหวัด ยกตัวอย่าง วันนี้เบิกค่ารักษาที่กรุงเทพฯ พรุ่งนี้เบิกค่ารักษาพยาบาลที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึงไปรับยา แล้วนำไปขายต่อด้วย
“หากระบบเตือน กรมบัญชีกลาง จะเข้าไปตรวจสอบ แล้วแจ้งไปยังหน่วยงานที่ข้าราชการคนนั้นสังกัด เพื่อสอบถามข้อมูล และหากมีข้อเท็จจริง ก็ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยตามขั้นตอนต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ซึ่งได้ตักเตือนไปแล้ว” นางสาวกุลยา กล่าว
